โดย สุภางค์ ศรีเสริมเกียรติ
สี (color) แม้ตามคำอธิบายเชิงวิชาการ จะหมายถึง การรับรู้ความถี่ หรือความยาวคลื่นของแสง ดวงตาของมนุษย์สามารถมองเห็นและแยกแยะสีสันต่างๆ มากมาย – แน่นอนว่าในโลกภาพยนตร์ สี คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของงานภาพ มีการพยายามคิดค้นและพัฒนาเทคนิคนำเสนอภาพสีในภาพยนตร์มาหลายยุคหลายสมัย แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ ดังเช่นที่เราคุ้นเคยกันว่า หนังในยุคแรกๆ มักจะเป็นภาพขาว-ดำ แต่เมื่อวิทยาการของฟิล์มและเทคนิคของระบบการถ่ายทำภาพยนตร์ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในยุคสมัยต่อมา หนังสีก็เริ่มแพร่หลายจนทุกวันนี้มันกลายเป็น ‘ของธรรมดา’ สำหรับคนดูหนังไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะถ่ายทำกันในรูปแบบสีกันแล้ว แต่หนังขาว-ดำ ก็ใช่ว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกภาพยนตร์ – ต่างกับในยุคก่อนที่อาจยังคงจำต้องถ่ายทำหนังในรูปแบบขาว-ดำ ด้วยเพราะ ‘ข้อจำกัด’ หรือ ‘ความจำเป็น’ ที่หนังสียังไม่แพร่หลาย หรืออาจมีต้นทุนที่สูง คนทำหนังยุคใหม่หลายคนกลับเลือกจะทำหนังเป็นภาพขาว-ดำ (ในกรณีนี้ไม่นับหนังสารคดีและหนังสั้น) ด้วย ‘ความจงใจ’ หรือ ‘จุดมุ่งหมายพิเศษ’ บางประการ เช่น การนำเสนอเสน่ห์ของหนังยุคเก่าแต่ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้ง หนังขาว-ดำ สมัยใหม่ ยังมักมาพร้อมลูกเล่นหรือเทคนิคในการนำเสนอที่หลากหลายและน่าสนใจ แถมบางครั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลวิธีเล่าเรื่องที่น่าตื่นตะลึง
ถ้าในโลกของแฟชั่นและมารยาททางสังคม เสื้อผ้าสีขาว-ดำ ไม่เคยตกยุคตกสมัยและถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญฉันใด โทนแสงสีขาวดำบนแผ่นฟิล์มก็ยังคงโดดเด่นสะดุดตาและเป็นเครื่องมือที่ดีในการสื่ออารมณ์และความหมายของคนทำหนังมาตลอด – ฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้ Starpics จึงขอเชิญคุณมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คนรักหนังขาว-ดำ’
[ HOLLYWOOD FANTASTIC ]
หนังฮอลลีวู้ดสมัยใหม่หลายเรื่อง ตั้งใจทำภาพในหนังให้เป็นสีขาว-ดำ เพื่อมุ่งสร้างบรรยากาศที่ชวนให้เรารู้สึกเหมือนว่าได้ย้อนกลับไปในห้วงอดีต (หลายเรื่องจึงเป็นหนังย้อนยุค) ขณะเดียวกัน บางเรื่องก็กลับใช้ภาพขาว-ดำ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ท้าทายและกิ๊บเก๋กว่านั้น! – นอกเหนือจากรายชื่อที่แนะนำไปแล้ว ก็ยังมีหนังเช่น The Last Picture Show (1971), Paper Moon (1973), Lenny (1974), Young Frankenstein (1974), Dead Men Don’t Wear Plaid (1982) ให้เลือกชม
- The Man Who Wasn’t There (2001)
สีหน้าเรียบเฉยที่อวลไปด้วยควันบุหรี่ของ บิลลี่ บ็อบ ธอร์นตัน กับอีกหนึ่งผลงานแสดงที่น่าชื่นชมในบทช่างตัดผมช่วงยุค ‘40s ที่พยายามแบล็คเมล์เจ้านายของเมียตัวเอง มันช่างเหมาะเจาะกับภาพขาว-ดำ (ตอนแรกถ่ายทำเป็นภาพสีแต่มาแปลงให้เป็นขาว-ดำ ภายหลัง) และการจับภาพที่เน้นระยะชัดลึก จากฝีมือระดับชิงออสการ์ของผู้กำกับภาพ โรเจอร์ เดียกินส์ (Fargo)
ดังนั้นแม้พล็อตเรื่องจะยังคงเป็นแนวอาชญากรรม เงินร้อน และผลลัพธ์เลวร้ายที่คุมไม่อยู่ ตามแบบฉบับของผู้กำกับ โจล และ อีธาน โคเอน (Fargo, The Big Lebowski) แต่ด้วยไอเดียจากภาพถ่ายเก่าๆ ของร้านตัดผมยุค ’40s ที่ใช้เป็นของประกอบฉากในหนัง The Hudsucker Proxy (1994) เสริมด้วยภาพโทนขาว-ดำ ทำให้แทนที่จะเป็นเรื่องตลกร้ายวายป่วง กลับลงเอยเป็นหนังอาชญากรรม / นีโอ-นัวร์ ที่ดูขรึมปนคลาสสิก และขึ้นแท่นอีกหนึ่งผลงานเรื่องเยี่ยมของพี่น้องโคเอน
- Good Night, and Good Luck. (2005)
เรื่องราวประวัติศาสตร์ของ เอ็ดเวิร์ด อาร์. มอร์โรว์ (เดวิด สตราเธรน) ผู้ดำเนินรายการข่าวแห่งสถานีโทรทัศน์ CBS ในช่วงต้นยุค ‘50s มอร์โรว์คือหนึ่งในไม่กี่คนที่กล้าท้าทายวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็คคาร์ธี ผู้กำลังปลุกปั่นกระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ไปทั่วอเมริกา – ในยุคสมัยเมื่อหลายทศวรรษก่อนที่ทีวีสียังเป็นของใหม่ราคาแพงที่ไม่แพร่หลาย ภาพขาว-ดำ (ปรับแต่งสีในภายหลัง จากหนังที่ถ่ายทำเป็นภาพสี) กับภาพฟุตเตจเก่าของหลายบุคคลจริงในยุคนั้นนำเราหวนสู่ยุคบุกเบิกของงานข่าวโทรทัศน์ กับประเด็นเข้มข้นว่าด้วยความรับผิดชอบของสื่อมวลชนต่อสังคมท่ามกลางความขัดแย้งตึงเครียดได้อย่างลงตัว
นี่คืองานกำกับหนังเรื่องที่สอง (และเรื่องที่ดีที่สุดนับถึงตอนนี้) ของพระเอกดัง จอร์จ คลูนี่ย์ โดยเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขา รวมถึงรางวัลใหญ่ ผู้กำกับ, นักแสดงนำชาย (สตราเธรน) และหนังยอดเยี่ยม
- Ed Wood (1994)
แม้เกร็ดข้อมูลหนึ่งอ้างว่า สาเหตุหนึ่งที่หนังเรื่องนี้เป็นภาพขาว-ดำ ก็เพราะไม่มีใครนึกออกว่า เบล่า ลูโกซี (รับบทโดย มาร์ติน แลนเดา – ผู้คว้าออสการ์สมทบชายจากบทนี้) นักแสดงระดับตำนานจากหนังสยองขวัญยุคบุกเบิกควรจะดูเป็นอย่างไรในภาพสี – นี่อาจฟังเหมือนเรื่องขำๆ แต่สำหรับผู้กำกับสุดติสท์ ทิม เบอร์ตัน ที่ถูกดึงเข้าสู่โปรเจ็คหนังชีวประวัติ เอ็ดเวิร์ด ดี. วู้ด จูเนียร์ (จอห์นนี่ เด็ปป์) ผู้กำกับที่ทะเยอทะยานทว่าขาดการสนับสนุนและมักถูกตราหน้าว่าสุดห่วย ด้วยเหตุผลลึกๆ ว่าสัมพันธภาพระหว่างวู้ดกับ เบล่า ลูโกซี ชวนให้เบอร์ตันนึกถึงมิตรภาพของตัวเองกับ วินเซนต์ ไพรซ์ นักแสดงระดับตำนานอีกคนในช่วงท้ายก่อนที่ไพรซ์จะเสียชีวิต
เบอร์ตันจึงยืนยันหนักแน่นว่าหนังเรื่องนี้ต้องเป็นภาพขาว-ดำ เท่านั้น แม้ว่านั่นจะขัดใจผู้บริหารสตูดิโอจนทำให้โปรเจ็คต้องสะดุด แต่ผลลัพธ์ของหนังที่ออกมาคงยืนยันได้ดีว่า เบอร์ตันคิดถูกแล้ว
- The Good German (2006)
ถ้าจะหาหนังเรื่องไหนที่เป็นตัวอย่างชัดๆ ของการพยายามจงใจเลียนแบบสไตล์ของหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่าได้ดีที่สุด – ผลงานกำกับของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์กห์ (Traffic) เรื่องนี้คือคำตอบ – ไล่ตั้งแต่ที่เห็นโต้งๆ แม้จะยังไม่ทันได้ดูหนัง ก็คือโปสเตอร์ที่มุ่งคาราวะ Casablanca (1942) ตามด้วยตัวหนังที่ไม่ใช่แค่เป็นภาพขาว-ดำ แต่โซเดอร์เบิร์กห์ยังตั้งใจถ่ายทำหนังย้อนยุคช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ในแนวทางย้อนยุคแบบหนังฮอลลีวู้ดยุคเก่าด้วยแทบทุกประการเท่าที่ทำได้ ทั้งการเน้นถ่ายทำแต่ในสตูดิโอ, ใช้เลนส์ยุคเก่า, ใช้ไฟแสงจ้าๆ ที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ ฯลฯ ยกเว้นก็แค่การมีฉากนู้ด, คำหยาบ และความรุนแรง ซึ่งเป็นของต้องห้ามในยุคโน้นเท่านั้น
นับเป็นความพยายามที่น่าสนใจ เสียดายที่ตัวหนังดันไม่โดนใจนักวิจารณ์สักเท่าไหร่
- Raging Bull (1980)
แม้ในปัจจุบันจะเป็นหนังยอดเยี่ยมขึ้นหิ้ง แต่ตอนแรกนักวิจารณ์บางส่วนกลับติติงเนื้อหาและภาพความรุนแรงเลือดสาดจนทำให้หนังชีวประวัตินักมวย เจค ลา ม็อตต้า (โรเบิร์ต เดอนีโร กับการแสดงทั้งในเวอร์ชั่นนักมวยเลือดเดือดและเวอร์ชั่นอ้วนเผละที่ส่งให้เขาคว้าออสการ์นำชาย) เรื่องนี้ได้เสียงวิจารณ์แค่ก้ำกึ่ง ทั้งๆ ที่ผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ตระหนักถึงประเด็นนี้แต่แรกจึงเลือกถ่ายทำหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ (หนังมีภาพสีแทรกบางส่วน) ด้วยภาพขาว-ดำ เพื่อให้ภาพของเลือดบนจอดูน่ากลัวน้อยลง (และใช้ช็อกโกแลต Hershey แทนเลือดได้แบบเนียนๆ) แถมยังสอดคล้องกับสิ่งที่ ลา ม็อตต้า ตัวจริงบอกไว้ในหนังสือว่า เขาเคยนึกภาพตัวเองในหนังขาว-ดำ
ส่วนอีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เพื่อให้แตกต่างจากหนังดังที่มาก่อนอย่าง Rocky (1976) พร้อมทั้งให้ความรู้สึกย้อนยุคสมกับเป็นช่วงยุค ‘40s
- Schindler’s List (1993)
คงไม่ผิดนักหากบอกว่า “เด็กหญิงในชุดสีแดง” คือหนึ่งใน ‘ภาพจำ’ ที่ติดตาผู้ชมเมื่อนึกถึงหนังออสการ์เรื่องนี้ ไม่แพ้ความน่ารันทดสยดสยองของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว – สีสันเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางหนังทั้งเรื่องที่เป็นภาพขาว-ดำ ที่มาพร้อมงานภาพที่ตั้งใจเน้นความสมจริงในสไตล์หนังสารคดี ทำให้หนังประวัติศาสตร์ / ชีวประวัติ เรื่องนี้ มาพร้อม ‘การปรุงแต่ง’ ที่เกินเลย ‘ความสมจริง’ ไปหลายช่วงตัว
แต่ก็ดังที่ตอนนี้คงจะทราบกันดีแล้วว่า มันคือการปรุงแต่งที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จงใจสอดแทรกลงไปในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อวิพากษ์สมาชิกระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้น ที่แม้จะรู้ว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นอยู่ทนโท่ แต่กลับไม่ลงมือทำอะไรให้ทันท่วงทีเพื่อหยุดยั้งมัน
- Pleasantville (1998)
นี่คือหนังตลก / ดราม่า / แฟนตาซี ที่แสดง ‘การใช้สีเพื่อสื่อความหมาย’ ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างน่าตะลึงที่สุดเรื่องหนึ่ง ผ่านเรื่องราวของสองพี่น้อง (โทบี้ แม็คไกวร์ กับ รีส วิทเทอร์สพูน) ที่พลัดหลงข้ามเวลาเข้าไปในรายการทีวีย้อนยุคช่วงทศวรรษ 1950s และจำต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกสีขาว-ดำ ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ เรียบร้อย และบริสุทธิ์ใสซื่อไปเสียหมด ก่อนที่สองพี่น้องจากโลกอนาคตจะทำให้มันปั่นป่วน ด้วยการนำพาอารมณ์, ความรู้สึก และแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีแต่ความดีงามตามอุดมคติ มาเพิ่ม ‘สีสัน’ ให้แก่โลกสีขาว-ดำ ใบนี้ทีละนิดๆ (หนังถ่ายทำเป็นสีก่อนจะไปปรับแต่งในภายหลัง)
นี่ยังเป็นผลงานเรื่องแรกที่แจ้งเกิดอย่างจังให้ผู้กำกับ แกรี่ รอสส์ ก่อนจะมีผลงานเด่นอื่นๆ เช่น Seabiscuit และ The Hunger Games ภาคแรก
- Sin City (2005)
หากอธิบายว่า นี่คือ หนังขาว-ดำ ที่มีภาพสีแทรกเป็นบางส่วน คงเหมือนพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นการดูถูกสไตล์ภาพอันฉูดฉาดจัดจ้านของหนังเรื่องนี้ด้วยคำอธิบายทื่อๆ เอาเป็นว่าถ้าจะสรุปให้ตรงจุด โดยไม่ถึงขั้นต้องลงลึกในรายละเอียดทางเทคนิค ผลงานกำกับสุดพีคของ โรเบิร์ต โรดริเกซ & แฟรง มิลเลอร์ เรื่องนี้คือหนังอาชญากรรม / นีโอ-นัวร์ ที่นำนิยายภาพชื่อเดียวกันของมิลเลอร์มาขึ้นจอชนิดช็อตต่อช็อต ภาพขาว-ดำ ในหนังจึงหาใช่เพียงให้ความรู้สึกย้อนยุคแบบหนังฟิล์มนัวร์ในอดีต แต่มุ่งถ่ายทอดโทน, สไตล์ และภาพรวมทั้งหมดของผลงานบนหน้ากระดาษมาสู่ภาพเคลื่อนไหวบนจอหนังอย่างเต็มพิกัด
เมื่อ 10 กว่าปีก่อนมันช่างน่าทึ่งตะลึงตา น่าเสียดายว่าพอมันถูกใช้ซ้ำอีกครั้งในภาคใหม่ Sin City: A Dame to Kill For (2014) กลับไม่ฮือฮาเหมือนเดิมซะงั้น
- Frankenweenie (2012)
เช่นเดียวกับหนังสั้นต้นฉบับชื่อเดียวกันปี 1984 และ Frankenstein (1931) หนังสยองขวัญสุดคลาสสิก ที่หนังสั้นเรื่องเดิมจงใจแสดงการคาราวะ อนิเมชั่นฉบับรีเมคเรื่องนี้ของ ทิม เบอร์ตัน ก็ตั้งใจทำออกมาเป็นภาพขาว-ดำ เช่นเดียวกัน – แม้การใช้ภาพขาว-ดำ เพื่อจงใจคาราวะหรือหวนรำลึกถึงผลงานในอดีต จะเป็นจุดมุ่งหมายยอดฮิตของหนังฮอลลีวู้ดยุคหลัง แต่อย่างน้อยที่สุด การได้เห็นหนังอนิเมชั่นสต็อปโมชั่น ในเวอร์ชั่นภาพขาว-ดำ และงานสร้างเนี้ยบๆ คงไม่ใช่ของที่หาดูได้ง่ายนัก โดยเฉพาะกับหนังกระแสหลักของฮอลลีวู้ด
แม้บนเวทีออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม มันจะพ่ายให้แก่เจ้าหญิงผมแดงจาก Brave ไปก็เหอะ
[ INDY AMAZING ]
ต่างกับหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ หนังอินดี้หลายๆ เรื่องกลับเลือกใช้ภาพขาว-ดำ เล่าเรื่องราวร่วมสมัยด้วยจุดมุ่งหมายที่หลากหลายกว่าแค่การรำลึกถึงอดีต ทั้งเพื่อสื่อความหมายเฉพาะหรือสุนทรียะตามความตั้งใจของผู้สร้าง ขณะที่บางส่วนมีเหตุผลเบื้องหลังสุดคลาสสิก คือ ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน – นอกเหนือจากรายชื่อที่แนะนำไปแล้ว ก็ยังมีหนังเช่น Stardust Memories (1980), Broadway Danny Rose (1984), American History X (1998), Kafka (1991), My Best Friend’s Birthday (1987), Clerks (1994) Coffee and Cigarettes (2003), Stranger Than Paradise (1984), Pi (1998), Eraserhead (1977), In Search of a Midnight Kiss (2007), A Girl Walks Home Alone At Night (2014) ฯลฯ
- Nebraska (2013)
ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ เพย์น ทำหนังยาวมาแล้ว 5 เรื่องที่ล้วนเป็นหนังสีทั้งหมด กับหนังเรื่องที่ 6 ว่าด้วยเรื่องของ วู้ดดี้ แกรนท์ (บรู๊ซ เดิร์น) ชายชราอดีตขี้เมาและลูกชายผู้ห่างเหินกับการเดินทางสู่เป้าหมายที่ดูเหมือนไร้สาระไปยังเนบราสก้า ซึ่งเรื่องราวขำขื่นของวู้ดดี้กับครอบครัวก็เผยออกมาทีละนิดๆ โดยผิวเผินมันแทบไม่ต่างจากหนังโร้ดมูฟวี่แบบ About Schmidt และ Sideways ที่เพย์นเคยทำมาก่อน แต่คราวนี้เพย์นตั้งใจทำเป็นหนังขาว-ดำ เพื่อสร้างลุคที่โดดเด่นให้กับหนัง – ฟีดอน ปาปาไมเคิล ผู้กำกับภาพยังอธิบายว่า นี่คือการใช้พลังเชิงบทกวีของภาพขาว-ดำ มาผสมผสานกับภาพทิวทัศน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญกับเรื่องราวด้วยเช่นกัน
จากไอเดียติสท์ๆ ของคนทำหนังที่ขัดใจสตูดิโอ กลับลงเอยด้วยการชิงออสการ์ 6 สาขาใหญ่ (นำชาย–เดิร์น, สมทบหญิง, กำกับภาพ, บทดั้งเดิม, ผู้กำกับ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)
- Celebrity (1998)
แน่ล่ะว่านี่ไม่ใช่ผลงานชั้นยอดของ วู้ดดี้ อัลเลน แถมอัลเลนก็ทำหนังขาว-ดำ อยู่บ่อยๆ เช่น Manhattan (1979), Stardust Memories (1980), Broadway Danny Rose (1984), Shadows and Fog (1991) และหนังที่ใช้ทั้งภาพสีและขาว-ดำ เพื่อแบ่งแยกโลกแฟนตาซีกับโลกความจริงอย่าง The Purple Rose of Cairo (1985)แต่หนังรวมดาราที่ว่าด้วยนักข่าวตกอับในแวดวงเหล่าเซเล็บเรื่องนี้ ก็มีเกร็ดเบื้องหลังน่าสนใจคือ นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งสุดท้ายจากทั้งหมด 4 ครั้งของอัลเลน (และเป็นเรื่องเดียวที่เป็นภาพขาว-ดำทั้งเรื่อง) กับ สเวนนิควิสต์ (1922 – 2006) ผู้กำกับภาพชาวสวีเดนผู้ฝากผลงานเด่นมากมายไว้ในหนังของ อิงมาร์ เบิร์กแมน หนึ่งในผู้กำกับที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับอัลเลน
ขณะถ่ายทำ นิควิสต์ซึ่งสูงวัยมากแล้ว (นี่คือผลงานเรื่องท้ายๆ ในชีวิตเขา) สูญเสียการมองเห็นโดยส่วนใหญ่ไป อัลเลนจึงต้องคอยอธิบายรายละเอียดในแต่ละฉากให้ฟัง ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่มาของตัวละครผู้กำกับตาบอดในหนังของอัลเลนเรื่อง Hollywood Ending (2002) ด้วย
- Dead Man (1995)
จิม จาร์มุช เป็นผู้กำกับอินดี้อีกคนที่ทำหนังขาว-ดำ หลายเรื่อง ทั้ง Stranger Than Paradise (1984) หนังดังที่แจ้งเกิดให้เขา ตามด้วย Down by Law (1986) รวมถึง Coffee and Cigarettes (2003) แต่สิ่งที่ทำให้ภาพขาว-ดำ ใน Dead Man ดู ‘พิเศษ’ ก็เพราะนี่ไม่ใช่หนังร่วมสมัยที่เล่าเรื่องของคนไม่กี่คนแบบหนังเรื่องอื่นของจาร์มุช แต่เป็นหนังตะวันตกสไตล์ประหลาด (Acid Western หรือ Psychedelic Western – หนังที่มุ่งวิพากษ์สไตล์ของหนังตะวันตกคลาสสิก เสริมด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมทวนกระแสยุค ‘60s)
ภาพขาว-ดำ ในหนังมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศเหนือจริงดังบทกวี สอดคล้องกับรายละเอียดมากมายในหนัง เช่น วิลเลี่ยมเบลค กวีและจิตรกรชื่อดัง ที่ถูกยืมชื่อมาใช้เป็นชื่อตัวเอก (รับบทโดย จอห์นนี่ เด็ปป์) และยืมบทกวีหลายชิ้นมาเอ่ยอ้างถึง
- Frances Ha (2012)
เรื่องราวของ ฟรานเซส ฮัลลาเดย์ (เกรต้า เกอร์วิก) สาววัย 27 ปีในนิวยอร์ค กับการดิ้นรนจะเป็นนักเต้นอาชีพและเส้นทางชีวิตกับความใฝ่ฝันของเธอ กลายเป็นหนังร่วมสมัยที่เรียบง่ายทว่าตราตรึงด้วยภาพขาว-ดำ ที่ผู้กำกับ โนอาห์ บอมบาช (The Squid and the Whale) จงใจทำเพื่อเลียนแบบงานภาพขาว-ดำ ของ กอร์ดอน วิลลิส ในหนัง Manhattan (1979, วู้ดดี้ อัลเลน) ขณะที่สื่อบางสำนักก็มองว่าสไตล์ภาพเช่นนี้ชวนให้นึกถึงผลงานของ จิม จาร์มุช และ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์
มันดึงเราให้หวนถวิลหาอดีตโดยไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องย้อนยุคแต่อย่างใด
- Following (1998)
หนังอาชญากรรม / นีโอ-นัวร์ ว่าด้วยนักเขียนหนุ่มที่เฝ้าติดตามคนแปลกหน้าไปทั่วตามถนนในลอนดอน เพื่อหาแรงบันดาลใจในการเขียนนิยาย ก่อนจะถูกดึงเข้าสู่โลกอาชญากรรมใต้ดินโดยไม่รู้ตัว – ก่อนจะมาแจ้งเกิดอย่างจังกับ Memento (2000) หนังแนวคล้ายกันแต่มาพร้อมสไตล์การเล่าเรื่องสุดกิ๊บเก๋ – คริสโตเฟอร์ โนแลน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเงินส่วนตัวเพื่อให้ได้ทุน 6,000 เหรียญฯ มาทำหนังยาวเรื่องแรกนี้ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว สิ่งที่เขาหาได้จึงมีแค่ฟิล์มขาว-ดำ 16 มม.
แม้ภาพขาว-ดำ ในที่นี้จะไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายเชิงศิลปะ แต่อย่างน้อยสิ่งที่โนแลนทำได้ในข้อจำกัดนี้ ก็ดีเพียงพอจะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การเป็นผู้กำกับชื่อดังในเวลาต่อมา
- Guy and Madeline on a Park Bench (2009)
แม้ต้องรอนานถึง 5 ปีกว่าจะได้แจ้งเกิดแบบสุดขีดระดับชิงออสการ์กับหนังเรื่องที่สองอย่าง Whiplash (2014) เดเมี่ยน ชาเซลล์ คนทำหนังผู้มีดนตรีอยู่ในหัวใจได้ถ่ายทอดเรื่องราวว่าด้วยดนตรีแจ๊ซซ์และการเต้นแท็ปไว้ในหนังยาวเรื่องแรกนี้ ที่แม้จะเป็นหนังมิวสิคัลสไตล์ดิบๆ แบบสารคดี ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ 16 มม. และใช้นักแสดงสมัครเล่น (แต่บางคนเป็นนักดนตรีมือฉมัง) ซึ่งเดิมทีชาเซลล์เคยวางแผนจะให้เป็นหนังวิทยานิพนธ์สำหรับการเรียนภาพยนตร์ที่ฮาร์วาร์ด แต่นี่คือหนังเล็กๆ ที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์ไปท่วมท้น
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจเมื่อชาเซลล์มีทุกอย่างพร้อมทั้งเงินทุนและนักแสดงซูเปอร์สตาร์ในผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง La La Land (2016) มันจะเปล่งประกายเจิดจรัสสุดขีดชนิดเตรียมสำรองที่บนเวทีรางวัลใหญ่ๆ ช่วงปลายปีไว้ได้เลย
- Much Ado About Nothing (2012)
ขณะที่ผู้กำกับอินดี้หลายคนจำต้องทำหนังเรื่องแรกๆ ของตัวเองเป็น ขาว-ดำ เพื่อประหยัดเงินทุน แต่กับ จอสส์ วีดอน และหนังเรื่องนี้ที่นำบทละครชื่อเดียวกันของเชคสเปียร์มาดัดแปลงในแบบร่วมสมัยนั้นต้องเรียกว่าสวนทางกัน เพราะหนังอินดี้เล็กๆ ที่ทุนไม่น่าจะสูงเรื่องนี้คืองานชิลๆ สบายๆ ของวีดอนที่ถ่ายทำในเวลาจำกัดเพียง 12 วัน (ช่วงพักระหว่างงานหลังการถ่ายทำหนังฟอร์มยักษ์The Avengers) ที่บ้านของเขาเองใน ซานตา มอนิก้า, แคลิฟอร์เนีย
หนังยังเพิ่มดีกรี ‘ความเป็นส่วนตัว’ ยิ่งขึ้นเมื่อบ้านหลังนี้ออกแบบและตกแต่งโดย ไค โคล ภรรยาของวีดอนเอง โดยโคลเป็นผู้แนะนำให้สามีทำหนังเรื่องนี้ที่วางแผนกันมานานแล้วในโอกาสฉลองครบรอบแต่งงาน 20 ปี
[ INTERNATIONAL STUNNING ]
แม้หนังขาว-ดำ ดูเป็นของหายากที่นานๆ เราจะได้เจอสักครั้ง โดยเฉพาะกับหนังฮอลลีวู้ด แต่สำหรับแวดวงหนังยุโรปและหนังนานาชาติ กลับเต็มไปด้วยหนังขาว-ดำมากมาย และหลายเรื่องก็เป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่ทั้งงดงามและน่าตะลึง นอกเหนือจากรายชื่อที่แนะนำไปแล้ว ก็ยังมีหนัง เช่น Stalker (1979), Polytechnique (2009), Man Bites Dog (1992), A Field in England (2013), City of Life and Death (2009), Renaissance (2007), The Man from London (2007), Embrace of the Serpent (2015)ฯลฯ
- The Artist (2011)
หากจะหาหนังขาว-ดำ ยุคใหม่สักเรื่องที่รู้จักกันดีที่สุด ชื่อหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือหนังฝรั่งเศสขวัญใจผู้ชมที่คว้าออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหนังขาว-ดำ เรื่องแรกที่ได้รางวัลใหญ่นี้นับจาก Schindler’s List (1993) และเป็นหนังขาว-ดำ 100% (Schindler’s List มีภาพสีบางส่วน) เรื่องแรกนับจาก The Apartment (1960, บิลลี่ ไวล์เดอร์) – ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส มิเชล ฮาซานาวิเชียส ยังกล้าจัดเต็มด้วยการทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังเงียบเพื่อดึงเอาเสน่ห์ของหนังเงียบขาว-ดำ ในอดีตมานำเสนอ ผ่านเทคนิคสารพัดทั้งสัดส่วนภาพ 1.33: 1 และอัตราเฟรมภาพ 22 เฟรมต่อวินาที กับเรื่องราวของนักแสดงฮอลลีวู้ดช่วงยุค 1920s–1930s ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบสู่หนังเสียง
นี่จึงเป็น ‘ความพิเศษ’ ที่โดดเด้งแตกต่างจากหนังขาว-ดำ สมัยใหม่ที่เล่าเรื่องย้อนยุคอื่นๆ
- Ida (2013)
หนังที่ได้รับการขนานนามว่า ‘โร้ดมูฟวี่อันงดงามอย่างน่าประหลาด’ กับเรื่องราวในโปแลนด์ปี 1962 ว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังจะสาบานตัวเป็นแม่ชี และการเดินทางของเธอเพื่อไปพบกับป้า ญาติคนเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ของเธอ จุดเริ่มต้นการเดินทางของหญิงทั้งสองสู่เขตชนบทของโปแลนด์ พร้อมการเปิดเผยเรื่องราวในอดีตว่าด้วยชะตากรรมในครอบครัวที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเยอรมันยึดครองโปแลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นำมาสู่คำถามสำคัญว่าแท้จริงแล้ว เธอเป็นใครกันแน่?
ผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ พาเวล พอว์ลิโควสกี (My Summer of Love) ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังขาว-ดำ สุดคลาสสิกในอดีต เช่น The Passion of Joan of Arc (1928) และ Diary of a Country Priest (1951) และลงเอยด้วยการคว้าออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2015 ในนามประเทศโปแลนด์
- The White Ribbon (2009)
หนังสัญชาติเยอรมัน / ออสเตรีย ผลงานของผู้กำกับ มิคาเอล ฮาเนเก้ (Funny Games, Amour) ที่คว้า 4 รางวัลจากคานส์ รวมถึงปาล์มทองคำประจำปี 2009 เล่าถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเยอรมันในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 กับเรื่องราวที่ฮาเนเก้อธิบายว่า “คือรากเหง้าของความชั่วร้าย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือการก่อการร้ายทางการเมือง มันก็ไม่ต่างกัน”
ความมืดหม่นลึกลับถูกเพิ่มดีกรีด้วยงานกำกับภาพขาว-ดำ ฝีมือ คริสเตียน เบอร์เกอร์ (ที่ได้ชิงออสการ์ด้วย) ทีมงานขาประจำของฮาเนเก้ ซึ่งตั้งใจให้ภาพขาว-ดำในหนังชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเก่าๆ จากยุคนั้นแต่มาพร้อมความห่างเหิน โดยเบอร์เกอร์ยังได้ศึกษาต้นแบบจากงานภาพขาว-ดำของ สเวน นิควิสต์ ในหนังของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ด้วย
- Control (2007)
แอนทอน คอร์บิจ์น (The American, A Most Wanted Man) ช่างภาพและผู้กำกับมิวสิควีดีโอ ถ่ายทำผลงานกำกับหนังเรื่องแรกของตัวเองนี้ในรูปแบบหนังสี ก่อนจะมาแปลงเป็นภาพขาว-ดำ ในภายหลัง ด้วยเหตุผลที่ช่างภาพอาชีพอย่างเขามองว่า ฟิล์มขาว-ดำนั้นให้ภาพที่หยาบกระด้างจนดูเหมือนฟิล์ม Super-8 แม้ว่าที่จริงมันจะเป็นฟิล์ม 35 มม. ส่งผลให้หนังอังกฤษว่าด้วยชีวประวัติจากช่วงชีวิตอันแสนสั้นของ เอียน เคอร์ติส (รับบทโดย แซม ไรลี่ย์) นักร้อง / นักแต่งเพลง แห่งวง Joy Division ผ่านเรื่องราวชีวิต, งาน และความรัก ที่เป็นปัญหายุ่งเหยิงในชีวิตของเขา และนำไปสู่การฆ่าตัวตายขณะอายุเพียง 23 ปี – เรื่องนี้ได้คำชมจากนักวิจารณ์ไปไม่น้อย พร้อมแจ้งเกิดให้คอร์บิจ์นในฐานะผู้กำกับหนังอย่างงดงาม
- Tabu (2012)
หลังจากที่ The Artist พาเราหวนรำลึกถึงอดีตอันสวยงามของยุคหนังเงียบฮอลลีวู้ดและคว้าออสการ์ไปครอง หนังโปรตุเกสเรื่องนี้ของ มิเกล โกเมซ (Arabian Nights) (ชื่อเรื่องอ้างอิงถึง Tabu: A Story of the South Seas หนังเงียบ / ขาว-ดำ ปี 1931 ของ เอฟ. ดับบลิว เมอร์เนา) ก็คืออีกหนึ่งผลงานเรื่องเยี่ยม (Sight and Sound เลือกให้ติดอันดับที่ 2 ของหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2012)
ภาพขาว-ดำ มาพร้อมบทเกริ่นนำและเรื่องราวที่แบ่งเป็น 2 ช่วง ว่าด้วย ออโรร่า หญิงชราผู้ตระหนักว่าวาระสุดท้ายของตัวเองกำลังใกล้เข้ามา เธอขอร้องเพื่อนบ้านให้ตามหาคนรู้จักในอดีต และเรื่องราวย้อนอดีตว่าด้วยรักต้องห้ามของออโรร่าในวัยสาวที่อัฟริกา – ในหนังช่วงที่สองนี้เองที่โกเมซจำลองภาพอันงดงามทว่าไร้คำพูดของหนังเงียบมาผสมผสานกับเรื่องเล่า – กลายเป็นหนังที่นักวิจารณ์บางคนยกย่องว่าเลอค่า, งดงาม, อ่อนโยน, สนุกสนาน และเปี่ยมเสน่ห์
- Werckmeister Harmonies (2000)
เบล่า ทาร์ร (Satantango, The Turin Horse) ยอดผู้กำกับชาวฮังกาเรียน เป็นอีกคนที่ทำหนังขาว-ดำ บ่อยๆ ที่จริงน่าจะนับเป็นผลงานส่วนใหญ่ของเขา และเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องของเขาที่มาพร้อมสไตล์เฉพาะตัวทั้งงานภาพแบบลองเทค (หนังทั้งเรื่องเป็นการประกอบเข้าด้วยกันของแทร็คกิ้งช็อตที่นิ่งเนือย 39 ช็อต ตลอดความยาว 145 นาที) และเรื่องแนวปรัชญาที่ถ่ายทอดในสไตล์สมจริง (Cinémavérité)
หนังดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Melancholy of Resistance (1989) ภาพขาว-ดำ มาพร้อมเรื่องราวลึกลับชวนฉงนในชุมชนห่างไกลแห่งหนึ่งของฮังการี เมื่อมีคณะละครสัตว์มาถึงเมืองนี้พร้อมกับซากวาฬขนาดมหึมา มันเปรียบดังนิทานเปรียบเทียบถึงระบบการเมืองในยุโรปตะวันออกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อยู่ภายใต้ปกครองของสหภาพโซเวียต
- Blancanieves (2012)
ตัวแทนชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศจากสเปนในปี 2013 แต่ไม่เข้ารอบสุดท้ายเรื่องนี้ คืออีกเวอร์ชั่นหนึ่งของ Snow White เทพนิยายคลาสสิกของพี่น้องกริมม์ ที่ถูกนำมาเล่าในรูปแบบที่คุณไม่น่าจะเคยเห็นที่ไหนมาก่อน คือ หนังเงียบ / ขาว-ดำ (เป็นอีกเรื่องที่ถ่ายทำเป็นหนังสีก่อนแล้วมาปรับเป็นขาว-ดำ ภายหลัง) ที่ถูกนำมาผสมผสานกับการสู้วัวกระทิง ที่ผู้กำกับ พาโบล เบอร์เกอร์ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายคนแคระสู้วัวกระทิง EspañaOculta (1989) ของช่างภาพ คริสติน่า การ์เซีย โรเดโร กลายเป็นภาพยนตร์ดราม่า / แฟนตาซี ที่เบอร์เกอร์ขอเรียกว่า “จดหมายรักถึงภาพยนตร์เงียบของยุโรป”
- La Haine (1995)
หนังฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ ‘80s – ต้น ‘90s ถูกให้นิยามโดยสีสันอันฟุ่มเฟือย, สไตล์อันจัดจ้าน และงานภาพอันฉูดฉาดของ Cinéma du look จากผลงานเด่นของผู้กำกับดัง เช่น Subway (1985), The Big Blue (1988) รวมถึง Nikita (1990) ของ ลุค เบสซง, Diva (1981) กับ Betty Blue (1986) ของ ฌอง-ฌาคส์ บีนิกซ์ และ Mauvais Sang (1986) กับ Les Amants du Pont-Neuf (1991) ของ ลีโอส์ การากซ์ แต่ La Haine หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Hate เรื่องนี้ของนักแสดง / ผู้กำกับ มาธิเออ แคสโซวิทซ์ (พระเอกหนัง Amélie) คือผลงานที่โดดเด่นแหวกแนวขึ้นมา ด้วยความเป็นหนังขาว-ดำ แนวอาชญากรรม / ดราม่า เข้มๆ ดิบๆ ว่าด้วยความรุนแรงในเขตชานเมืองปารีส
แม้ตอนแรกแคสโซวิทซ์ดูไม่มั่นใจนักกับหนังขาว-ดำ จนถึงขั้นเตรียมวางแผนปล่อยหนังฉบับภาพสี (ที่ถ่ายทำในตอนแรกก่อนปรับเป็นขาว-ดำ) ออกฉายแทนหากฉบับขาว-ดำ เกิดแป้กขึ้นมา แต่หนังกลับฮ็อตเกิดคาดทั้งในแง่เสียงวิจารณ์และบนเวทีรางวัล
- The Saddest Music in the World (2003)
ความหลงใหลในสไตล์ของหนังเงียบยุคเก่าคือสิ่งที่เห็นได้ชัดในหนังแทบทุกเรื่องของ กาย แมดดิน (My Winnipeg) ผู้กำกับชาวแคนาดา ซึ่งหนังเรื่องยาวส่วนใหญ่ของเขาก็เป็นหนังขาว-ดำ หรือไม่ก็หนังขาว-ดำ ที่มีภาพสีแทรกบางส่วน รวมถึงหนังเพลงเรื่องนี้ ที่เล่าเรื่องราวในเมืองวินนิเพ็ก, แคนาดา ปี 1933 ช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เลดี้ เฮเลน พอร์ต-ฮันท์ลี่ย์ (อิซาเบลล่า รอสเซลลินี) ประกาศจัดการแข่งขันเพื่อค้นหาเพลงที่เศร้าที่สุดในโลก เพื่อโปรโมทกิจการเบียร์ของเธอในโอกาสที่มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอเมริกากำลังจะยุติลง นักดนตรีจากทั่วทุกสารทิศจึงมุ่งตรงมายังเมืองนี้เพื่อหวังจะชนะเงินรางวัลก้อนโต 25,000 เหรียญฯ
- Wings of Desire (1987)
ถ้าไม่นับหนังโร้ดมูฟวี่ยุคแรก Summer in the City (1970) และไตรภาคโร้ดมูฟวี่ทั้ง Alice in the Cities (1974), The Wrong Move (1975) และ Kings of the Road (1976) ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังขาว-ดำ ทุนต่ำ นี่คือหนึ่งในหนังยุคต่อมาของยอดผู้กำกับชาวเยอรมัน วิม เวนเดอร์ส ไม่กี่เรื่องที่เป็นภาพขาว-ดำ ซึ่งถูกนำมาประกอบการเล่าเรื่องร่วมกับภาพสี ว่าด้วยเรื่องราวแฟนตาซี / โรแมนติก ของ เดเมี่ยน (บรูโน่กันซ์) เทวดาผู้เห็นแต่โลกในสีขาว-ดำ ขณะที่มนุษย์มองเห็นโลกในแบบภาพสี กระทั่งเมื่อเขาเริ่มตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง ‘สีสัน’ ของโลกมนุษย์ก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้น
หนังยังมาพร้อมงานภาพมุมมองของเทวดาในสีขาว-ดำ ก่อนจะปรับมาสู่สีสันในมุมมองของมนุษย์ ผลงานของ อ็องรี อเล็กคาน ผู้กำกับภาพที่เคยมีผลงานชั้นเยี่ยมอย่าง Beauty and the Beast (1949) เวอร์ชั่นหนังฝรั่งเศส / ขาว-ดำ ของ ฌอง ค็อคโต
- The Road Home (1999)
ภาพขาว-ดำ มักถูกใช้เป็นตัวแทนของการหวนรำลึกถึงอดีต หนังหลายเรื่องจึงมักใช้กับฉากย้อนอดีต แยกต่างหากจากภาพสีของเรื่องราวร่วมสมัย แต่ความคุ้นเคยดังกล่าวถูกสลับขั้วในหนังเรื่องนี้ ที่เล่าเรื่องของลูกชายผู้เดินทางกลับบ้านเกิดและทราบข่าวการตายของพ่อ ขณะที่แม่เตรียมจัดพิธีศพแบบดั้งเดิมและตั้งใจนำศพสามีเดินทางกลับบ้านเกิด เรื่องราวน่าเศร้าในปัจจุบันถูกเล่าด้วยภาพขาว-ดำ ชวนหม่นหมอง ตรงข้ามกับฉากย้อนอดีตที่มาพร้อมสีสันสดสวยกับเรื่องราวความรักที่เพิ่งจะผลิบานของพ่อและแม่ในช่วงหนุ่มสาว
นี่คือหนึ่งในหนังที่เรียบง่ายทว่างดงามของ จางอี้โหมว ที่มาพร้อมนางเอกสาว จางซิยี่ ในวัยที่กำลังเบ่งบาน ช่วงก่อนที่เขาจะเข้าสู่โหมดอลังการงานสร้างกับหนังยุคต่อมา เช่น Hero (2002) และ House of Flying Daggers (2004)
- From What Is Before (2014)
ลาฟ ดิแอซ ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์คืออีกคนที่ทำหนังขาว-ดำ บ่อยครั้ง จนกลายมาเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ประจำตัวของเขานอกเหนือจากสไตล์ภาพยนตร์ที่เนิบช้าด้วยช็อตนิ่งๆ ยาวๆ และหนังหลายเรื่องที่มีความยาวเกินกว่า 4 ชั่วโมง แต่เขาก็มีแฟนประจำที่ติดตามผลงาน เช่นเดียวกับที่หนังหลายเรื่องไปเข้าชิงและคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังระดับโลก รวมถึงหนังดราม่าความยาว 5 ชั่วโมง 32 นาที เรื่องนี้ ที่เล่าถึงฟิลิปปินส์ในช่วงปี 1972 เมื่อหลายสิ่งลึกลับกำลังเกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกล มีเสียงร่ำไห้ดังจากป่า, วัวถูกฆ่า และชายคนหนึ่งเลือดออกจนตายขณะที่บ้านถูกเผา ตอนนั้นเองที่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ประกาศให้ประเทศตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
นี่คืออีกผลงานของดิแอซที่นักวิจารณ์เทใจให้ และคว้า Golden Leopard จากเทศกาลหนัง Lacarno ปี 2014
- Mysterious Object at Noon (2000)
หนังยาวเรื่องแรกของ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีชื่อไทยว่า ดอกฟ้าในมือมาร นี้เป็นหนังแนวทดลองกึ่งสารคดี ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ 16 มม. ก่อนจะปรับเป็น 35 มม. ในภายหลังเพื่อออกฉายตามเทศกาลต่างๆ และคว้ารางวัลจากหลายสถาบัน เช่น Dragons and Tigers Award – Special Mention จากเทศกาลหนังนานาชาติแวนคูเวอร์
หนังใช้แนวคิดของศิลปะฝรั่งเศสที่เรียกว่า Exquisite corpse (การวาดรูปแล้วพับไว้แล้วส่งให้คนต่อไปวาดต่อไปเรื่อยๆ) กลายเป็นหนังที่พาผู้ชมเดินทางไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่คาดไม่ถึงจากผู้คนหลากหลายตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศไทย เริ่มต้นจากเรื่องของครูดอกฟ้า เด็กชายพิการ และมนุษย์ต่างดาว
- Persepolis (2007)
นี่คือหนังที่มาพร้อมองค์ประกอบที่คงมีไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นอยู่รวมในหนังเรื่องเดียวกัน คือ ภาพขาว-ดำ / อนิเมชั่น / ผู้หญิง / อิหร่าน แต่อนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้มีอยู่ครบ! นี่คืออนิเมชั่น / ขาว-ดำ ที่ร่วมกำกับและเขียนบท โดย มาร์จาเน ซาทราพี สาวฝรั่งเศสเชื้อสายอิหร่านกับเรื่องราวที่นำมาจากนิยายภาพอัตชีวประวัติของซาทราพี ว่าด้วยการก้าวข้ามพ้นวัยของเด็กหญิงคนหนึ่งในอิหร่านช่วงการปฏิวัติ
อนิเมชั่นเรื่องดังที่ไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้จะมีอายุเกือบ 10 ปีแล้ว เคยฝ่าด่านเข้าไปชิงออสการ์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งปี (ซาทราพียังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานี้) ร่วมกับอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด ก่อนจะพ่ายให้แก่ Ratatouille (2007) ของพิกซาร์
ข้อมูลอ้างอิง: bfi.org.uk, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)