แม็ตต์ และ รอสส์ ดัฟเฟอร์ สองผู้สร้าง เลือกที่จะเซ็ตเหตุการณ์ในซีรีส์ Stranger Things ให้เกิดขึ้นในปี 1983 (ซึ่งเป็นปีค.ศ.เดียวกันกับที่ X-Men: Apocalypse และซีซั่น 4 ของซีรีส์เรื่อง The Americans เลือกใช้) พร้อมทั้งคารวะให้กับผลผลิตของยุคสมัยที่พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นนี้ ด้วยการใส่สัญญะหรือกลิ่นอายที่ผู้ชมอย่างเราๆ เห็นแล้วต้องนึกถึงภาพยนตร์ขึ้นหิ้งจากยุค 80s อย่างอดไม่ได้ เช่น มอนสเตอร์รูปร่างหน้าเกลียดน่ากลัว (Alien), ถังน้ำแบบ sensory deprivation tank (Altered States หรือ Minority Report), การผจญภัยของกลุ่มเด็ก (Stand By Me), การใช้รูปถ่ายในการไขปริศนา (Blowup), ตัวละครเด็กที่ต้องแอบซ่อนสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมในบ้านตัวเองให้พ้นหูพ้นตาพ่อแม่ (E.T. The Extraterrestrial) หรือการสื่อสารกันผ่านการกะพริบไฟ (Close Encounters of the third kind)
แต่ที่มากกว่าสัญญะหรือกลิ่นอาย คือนานาสรรพสิ่งที่อ้างอิงถึงยุค 80s ที่ฝาแฝดดัฟเฟอร์ตั้งใจใส่มาในซีรีส์เรื่องนี้ให้คนดูได้เห็น (และเล่นเกมจับผิด) กันแบบโต้งๆ ไปเลย! ก่อนที่จะมีสารพันความย้อนยุค/หวนรำลึกอดีตอีกเพียบแน่ๆ ในซีซั่น 2 ที่จะมาถึงในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ เรามาดูตัวอย่างเด่นๆ ของมรดกตกทอดจากยุค 80s ในซีซั่นแรกของซีรีส์กันก่อนดีกว่า (มีสปอยล์)
1.Dungeons & Dragons
D&D คือบอร์ดเกมที่ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นนักผจญภัย ออกไปทำภารกิจในโลกแฟนตาซีที่เต็มไปด้วยอัศวินผู้กล้าหาญ จอมเวทย์ผู้มากฤทธิ์ สัตว์ประหลาด มังกร ดันเจี้ยนลึกลับ ปิศาจครึ่งผีครึ่งคน ดินแดนอันน่าสะพรึงกลัว และทรัพย์สมบัติมากมายเป็นภูเขาเลากา – แกรี่ กายกักซ์ และ เดฟ อาร์เนสัน คิดค้นและประดิษฐ์เกมนี้ขึ้น ก่อนจะเผยแพร่ในปี 1974 และกลายเป็นเกมกระดานที่ได้รับความนิยมมาในทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับเด็กยุค 80s มันอาจจะพิเศษและได้ความนิยมมากกว่ายุคอื่นอยู่หน่อย เพราะเด็กๆ ยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์หรือคอนโซลให้เล่นอย่างแพร่หลาย D&D และบอร์ดเกมอื่นๆ จึงกลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของเด็กๆ ไปโดยปริยาย
ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ใน ep.แรก ว่าแก๊งเด็กชายวัยซนในซีรีส์จับกลุ่มเล่นกันอย่างจริงจังมากๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้เล่นกันเอามันส์อย่างเดียว เด็กๆ ยังโยงเอาทฤษฎีในเกมมาใช้สืบเสาะค้นหาตัววิลล์ที่หายไปได้ด้วย
2.X-Men
การ์ตูนชุดฮีโร่มนุษย์กลายพันธุ์ X-Men อาจนับเป็นการ์ตูนฮีโร่ที่เป็นที่รักของคอการ์ตูนหรือนักอ่านในทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับยุค 80s ที่ คริส แคลร์มอนต์ และ จอห์น ไบรน์ ได้เขียนตอนที่ดีที่สุดตอนหนึ่งของ X-Men ขึ้นมา นั่นคือ The Dark Phoenix Saga ในปี 1980 รวมถึงตอนจบของชุด Days of Future past ในปี 1981 จนทำให้ X-Men กลายเป็นการ์ตูนขายดีอันดับหนึ่งของมาร์เวล เราก็อาจบอกว่านี่คือยุครุ่งเรืองของ X-Men ได้เลย
รุ่งเรืองแค่ไหนให้ดูจากกระแสตอบรับจากผู้อ่านวัยเด็ก-ที่น่าจะเป็นกลุ่มผู้อ่านหลัก-อย่างแก๊งเด็กในซีรีส์ ใน ep.1 ที่เด็กๆ ออกจากบ้านไมค์ ดัสตินท้าวิลล์ว่าใครปั่นจักรยานกลับไปถึงบ้านตนก่อนคนนั้นชนะและจะได้รางวัลเป็นคอมิกส์ X-Men #134 (ตีพิมพ์ปี 1963) แต่ผลก็เป็นอย่างที่ทราบ นั่นคือไม่สามารถหาผู้แพ้ผู้ชนะได้เนื่องจากวิลล์หายตัวไปซะก่อน
นอกจากนั้นแล้ว มันยังมีจุดน่าสังเกตเล็กๆ นั่นคือ X-Men เล่มดังกล่าวเป็นตอน Phoenix Saga ซึ่งว่าด้วยตัวละคร จีน เกรย์ ผู้มีพลังจิตอันกล้าแกร่งและมีอานุภาพอันน่ากลัว– เหมือน อีเลฟเว่น ไม่มีผิด
3.Star Wars
คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าทำไมหนังชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อย่าง Star Wars จึงมีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ยุค 80s (และยุคต่อๆ มา) มากขนาดที่เราอาจเรียกมันว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยได้เลย เพราะหนัง 2 ใน 3 ภาคของไตรภาคแรก ก็อยู่ในยุคนี้ (The Empire Strikes Back-1980, Return of the Jedi-1983)
และบรรดาตัวละครในหนังก็เป็นที่คลั่งไคล้ของเด็กๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ในซีรีส์ โดยตลอดทั้งซีซั่น มีตัวละครจาก Star Wars ที่ถูกกล่าวถึง/ปรากฏตัว ทั้งหมด 3 ตัว คือ เมื่อไมค์พาแอลเดินชมรอบๆ บ้านใน ep.2 เขาก็หยิบฟิกเกอร์ โยดา ขึ้นมาแล้วกล่าวประโยคที่อาจารย์ของเหล่าเจไดเคยกล่าวไว้ว่า “Ready are you, what knows you of ready?” และยังอธิบายกับแอลอีกด้วยว่า โยดาใช้ฟอร์ซในการเคลื่อนย้ายสิ่งของได้เหมือนกับเธอเลย, ใน ep.3 เพื่อทดสอบพลังจิตเคลื่อนย้ายสิ่งของของแอล ดัสตินเลยท้าให้เธอลองใช้จิตยกโมเดลยาน มิลเลเนี่ยม ฟัลคอน ให้ลอยขึ้นเหนือพื้น, ใน ep.7 ดัสตินดูจะไม่ค่อยไว้ใจนายอำเภอฮอปเปอร์ที่วอมาบอกว่าจะช่วยเหลือพวกเขา เลยโพล่งชื่อตัวละครที่เคยหักหลัง ฮาน โซโล อย่าง แลนโด้ คาลริสเชียน ขึ้นมา เพื่อเตือนสติเพื่อนๆ ว่า ไม่แน่ว่าฮอปเปอร์อาจกำลังหลอกพวกเขาอยู่ก็ได้ หรืออย่างใน ep.6 เด็กๆ ก็เคยเปรียบเทียบว่า หากพวกเขาต้องออกไปสู้โดยปราศจากแอล ก็คงเหมือน R2-D2 สู้กับ ดาร์ธ เวเดอร์
4.All the Right Moves / Risky Business
ทอม ครูซ คืออีกหนึ่งสมบัติอันล้ำค่าแห่งยุค 80s ความหล่อใสของเขาในหนังอย่าง Risky Business (พอล บริคแมน) และ All the Right Moves (ไมเคิล แชปแมน) ทำเอาสาวๆ ต้องกรี๊ดกันสลบ และหนุ่มๆ ก็ยกให้เขาเป็นต้นแบบในเรื่องแฟชั่น – เช่นหนุ่มสาววัยรุ่นอย่างสตีฟและแนนซี่ ใน ep.5 สตีฟชวนแนนซี่ไปดูหนังเรื่อง All the Right Moves กับเขา โดยบอกว่าหนังมีดารานำจากเรื่อง Risky Business (ทอม ครูซ) แสดง ซึ่งก็เป็นทั้งดาราคนโปรดของเธอ และเป็นดาราที่เขาพยายามปรับลุคทำตัวเลียนแบบ พร้อมกับร้องเพลง Old Time Rock n Roll ที่ครูซเคยลิปซิงค์ในหนังเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

ทั้งสองเรื่องเข้าฉายในปี 1983 ซึ่งเป็นปีค.ศ.ที่เกิดเหตุการณ์ในซีรีส์ โดย Risky Business เข้าฉายก่อนในเดือนสิงหาคม ส่วน All the Right Moves ฉายในเดือนตุลาคม
5.Poltergeist
ในระหว่างแฟลชแบ็คใน ep. แรก จอยซ์โผล่ไปเซอไพรส์วิลล์ที่ ‘ปราสาทบายเยอร์ส’ ที่ซ่อนอยู่ในป่า ด้วยตั๋วหนังเรื่อง Poltergeist ซึ่งเจ้าหนูวิลล์ก็ดูจะสนอกสนใจหนังผีเรื่องนี้ โดยไม่มีท่าทีเกรงกลัวในความหลอนเลยสักนิด
มากไปกว่านั้น หลังจากที่วิลล์หายตัวไป และจอยซ์เริ่มได้ยินเสียงของลูกชายเธอจากอีกมิติหนึ่งผ่านผนังบ้าน – ก็คล้ายกับตัวละคร แครอล แอนน์ (เฮทเทอร์ โอเร็ก) ในหนังเรื่องดังกล่าวที่ถูกลักพาตัวหายไปอยู่เหมือนกัน

โดยผลงานของผู้กำกับ โทบี้ ฮูเปอร์ และเขียนบทโดย สปีลเบิร์ก เรื่องนี้ นับเป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญคลาสสิคที่ประสบความสำเร็จทั้งกล่องและเงิน ทำรายได้ไป 121.7 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 10.7 ล้านเหรียญฯ ก่อนจะถูกนำมารีเมคโดย กิล คีแนน แต่กลับไม่เปรี้ยงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะคำวิจารณ์หรือรายได้
6.The Thing / The Evil Dead / Jaws
โปสเตอร์หนังก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์อย่างง่ายที่พี่น้องดัฟเฟอร์เลือกใส่เข้ามาในซีรีส์ เราจะได้เห็นใบปิดของหนังดังๆ อย่าง The Thing (1982), The Evil Dead (1981) หรือ Jaws (1975) – ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่เป็นต้นแบบให้กับ Stranger Things ทั้งทางตรงและทางอ้อม – ติดอยู่ในห้องของไมค์, โจนาธาน และวิลล์ ตามลำดับ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในยุคนั้น ก็จะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากเด็กๆ หรือวัยรุ่นในปีค.ศ.นั้นจะคลั่งไคล้หนังเหล่านี้…เพราะใครบ้างล่ะที่ไม่ชอบ?
นอกจากนั้น ใน ep.7 ฉากที่ครูคลาร์กนั่งดูหนังอยู่กับแฟนสาวที่บ้านในตอน 4 ทุ่ม ก่อนที่ดัสตินจะโทรมาเพื่อถามเรื่องทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ – หนังเรื่องดังกล่าวนั้นก็คือ The Thing นั่นเอง
7.Cujo
นิยายของ สตีเฟน คิง ก็เป็นอีกหนึ่งอิทธิพลและต้นแบบหลักให้กับฝาแฝดดัฟเฟอร์ ซึ่งในซีรีส์ ทั้งสองก็เลือกที่จะให้ตัวละครสมทบที่เป็นตำรวจ/เจ้าหน้าที่รัฐ นั่งอ่านนิยายสยองขวัญเรื่อง Cujo ของคิง ในฉากที่นายอำเภอฮอปเปอร์แอบเดินทางมาพิสูจน์ศพของวิลล์ บายเยอร์ส ใน ep.4 ซึ่งนายอำเภอมาดดุก็ชอบนิยายเรื่องนี้เช่นกัน เขาจึงบอกกับเจ้าหน้าที่คนนั้นว่า “หมามันน่าเกียจดีว่ะ”
Cujo ตีพิมพ์ในปี 1981 เป็นเรื่องราวของสุนัขสายพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดนามว่า คูโจ ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จนไล่อาละวาดเอาชีวิตผู้คนในเมืองเล็ก ๆ อย่างไร้ความปรานี – นิยายคว้ารางวัลจากเวที British Fantasy Award ในปี 1982 และถูกนำไปสร้างเป็นหนังในปีถัดมาโดยผู้กำกับ ลูอิส ทีค ทำรายได้ไป 21 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 8 ล้านเหรียญฯ
8.The Clash / Joy Division
ไม่ใช่แค่หนังหรือนิยาย – เพลงก็แอบมีอิทธิพลต่อซีรีส์ของฝาแฝดดัฟเฟอร์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย (โดยเฉพาะเพลงของวงร็อคที่ดังระเบิดในยุค 80s) โดยเพลงที่เราจะได้ยินในซีรีส์ก็มี 2 เพลง นั่นคือ Should I Stay or Should I Go ของ The Clash ซึ่งเป็นเพลงโปรดของทั้งโจนาธานและวิลล์ จอยซ์จึงรู้ว่าลูกชายคนเล็กของเธอยังไม่ไปไหน เพราะเธอได้ยินเสียงฮัมเพลงนี้ดังอยู่ในบ้านเธอใน ep.4 นั่นเอง

อีกเพลงคือ Atmosphere ของ Joy Division ที่ดังขึ้นในฉากที่โจนาธานกำลังเศร้าเพราะได้เห็นศพของน้องชายที่หายตัวไป – ซึ่งนี่ก็แสดงว่า โจนาธานและวิลล์จะต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงโพสต์-พั้งค์วงนี้อย่างแน่นอน เพราะ Atmosphere คือเพลงหน้าบีของซิงเกิ้ล She’s Lost Control และจะมีขายเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แม้ว่ามันจะถูกนำมารวมอยู่ในอัลบั้ม compilation ชื่อ Substance ในปี 1988 แต่กระนั้นมันก็ยังหาฟังได้ยากและไม่แพร่หลายเท่า Love Will Tear Us Apart อยู่ดี
