บทความโดย ตะลิงปิง
หากพูดถึงการวาดการ์ตูน รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวของกับศาสนา ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างกรณีไม่นานมานี้ อนิเมะเรื่องบนเน็ตฟลิกซ์เรื่อง ‘มหาศึกคนชนเทพ’ หรือ ‘Record of Ranarok’ ก็ได้ถูกประเทศอินเดียประกาศแบนอย่างเป็นทางการ เหตุเพราะอาจเข้าข่ายลบหลู่ ‘พระอิศวร’ หรือ ‘พระศิวะ’ หนึ่งในเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่คนในประเทศส่วนใหญ่นับถือกันอยู่นั่นเอง
จนกลายมาเป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับตัวละคร ‘พระพุทธเจ้า’ ที่จะมีซีนให้เห็นกันในอนาคต ว่าจะถูกเพ่งเล็งทำให้เป็นประเด็นเหมือนกับอนิเมะเรื่อง ‘ศาสดาลาพักร้อน’ ที่มีตัวละครนี้เช่นกันหรือไม่ รวมไปถึงกรณีก่อนๆ อย่าง “ขนมอาลัวพระเครื่อง” ที่เคยเกิดเป็นประเด็นร้อนแรงให้เห็นบนโลกโซเชียลมาก่อนด้วยนั้น ก็อาจทำให้หลายๆ คนรวมไปถึงผู้เขียนเองเกิดข้อสงสัยที่ว่า
แล้วตกลงศิลปินจะสามารถนำศาสนามาใช้ในการออกแบบดัดแปลงสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ หรือเป็นเพียงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการลบหลู่ศาสนาอยู่อย่างเช่นที่เกิดดราม่ากันแน่..
ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น ก่อนอื่นเราควรลองมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงสามารถผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าได้โดยที่ไม่เกิดประเด็นเหมือนอย่างประเทศไทยเรา โดยเริ่มจาก…
หลักการออกแบบงานศิลปะของชาวญี่ปุ่น
หากมองไปถึงหลักการออกของชาวญี่ปุ่นนั้น การให้ความสำคัญกับความกลมกลืนและการเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งรอบๆ ตัว นับเป็นแก่นที่เราพบเห็นได้เสมอๆ จนกลายมาเป็นศิลปะและการออกแบบที่เรียบง่าย สวยงาม กลมกลืน และลงตัวอย่างที่พวกเราได้เห็นกันทั่วไป โดยสิ่งรอบๆ ตัวที่ว่านั้น ก็จะมีตั้งแต่ธรรมชาติ การดำรงชีวิต ความเชื่อ และรวมไปถึง ‘ศาสนา’ นั่นจึงทำให้ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการนำทุกๆ สิ่งเหล่านั้นมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดนั่นเอง
“หลักการออกของชาวญี่ปุ่นนั้น
ให้ความสำคัญกับความกลมกลืน
และการเป็นส่วนหนึ่ง
กับสิ่งรอบๆ ตัว”
และ ‘การ์ตูน’ เองก็เป็นหนึ่งในการออกแบบของญี่ปุ่น ที่นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
แอนิเมชั่นเรื่อง Only Yesterday (1991, Studio Ghibli)
แอนิเมชั่นเรื่อง Wolf Children (2012, Studio Chizu; MadHouse)
สถานที่ต้นแบบ ตั้งอยู่ที่ 27-6 Hieda Kamiichi Nakaniikawa Toyama-prefecture 930-0362, Japan
แต่ทั้งนี้หากจะมองให้ลึงลงไปอีก อาจเป็นได้ว่ารายละเอียดของหลักคำสอนบางอย่างของแต่ละประเทศนั้นก็มีความแตกต่างกันไป ถึงแม้จะเป็นศาสนาเดียวกันก็ตาม แล้วสิ่งนั้นจะมีผลมาถึงความอิสระในการออกแบบผลงานเกี่ยวกับศาสนาด้วยหรือไม่ ? คงต้องขอย้อนไปดูในหัวข้อถัดไปเลยค่ะ
ความแตกต่างของการนับถือศาสนาของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
การนับถือศาสนาในประเทศไทยนั้น โดยส่วนมากจะนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นรากฐานของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีส่วนใหญ่ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติในปัจจุบันอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนั่นเอง
แต่สำหรับการนับถือศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากคาบสมุทรเกาหลี แต่เดิมนั้นเคยนับถือลัทธิชินโตกันเป็นส่วนใหญ่ จนมาถึงช่วงปลายยุคเอโดะได้มีการปฏิวัติศาสนาขึ้น ทำให้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและศาสนา และเพื่อให้วัดยังคงอยู่รอด จึงต้องมีการปรับตัวโดยการสร้างรายได้ด้วยวิธีการต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และคนญี่ปุ่นยังมองว่าพระพุทธรูปเป็นศิลปะอีกด้วย ดังนั้น จึงทำให้มีของที่ระลึกต่างๆ ที่มีใบหน้าของพระพุทธเจ้าอยู่ในนั้นมากมาย
“ช่วงปลายยุคเอโดะ
ได้มีการปฏิวัติศาสนาขึ้น
ทำให้มีการผสมผสานระหว่าง
วัฒนธรรมและศาสนา”
ในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับลัทธิชินโต และนิกายมหายานเป็นพระพุทธศาสนานิกายใหญ่ที่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนิกายมหายานนี้ได้ถูกแบ่งแยกย่อยออกไปอีกมากมาย โดยนิกายเซน ถือว่าเป็นนิกายที่นิยมที่สุด
ประตูทางเข้าของศาลเจ้าชินโต หรือที่เรียกว่า ‘ประตูโทริอิ’
แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีคนที่นับถือศาสนาพุทธเหมือนประเทศบ้านเรา แต่ก็เป็นศาสนาพุทธคนละนิกายกันนี่เอง ที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันไม่น้อยเลย แล้วที่บอกว่านิกายต่างกัน มันแตกต่างกันยังไงบ้างล่ะ ? มาไขข้อสงสัยไปด้วยกันเถอะค่ะ !
ข้อแตกต่างระหว่างนิกายมหายานกับนิกายเถรวาท
มหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้ายังคงมีอยู่จริงหลังจากที่ปรินิพพานแล้ว แต่เถรวาทไม่ได้เชื่อเรื่องนี้
มหายานมองคำสอนในแง่ปรัชญา สามารถวิพากษ์วิจารณ์ความหมายไปในแง่ต่างๆ ตามความคิดของแต่ละคนได้ แต่เถรวาทยึดมั่นอยู่ในคำสอนตามแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง และถือว่าเป็นของสูงส่งและศักดิสิทธิ์
มหายานตั้งบุคคลเป็นแกนกลาง เป็นการปรับพระพุทธพจน์เข้าหาคน จึงทำให้มีการผ่อนปรนข้อปฏิบัติจนบางนิกายอนุมัติให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ ในส่วนของเถรวาทตั้งพระพุทธพจน์เป็นแกนกลางแล้วดึงบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์โดยมีการบรรลุเห็นธรรมเป็นแรงจูงใจ
มหายานตั้งเป้าหมายไว้ไม่ยากเกินไป ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยวิธีที่ยากมาก ในขณะที่เถรวาทตั้งเป้าหมายและวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายไว้สูงและค่อนข้างยากกว่า
มหายานเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับพระพุทธศาสนา ส่วนเถรวาทเน้นไปที่การให้พระสงฆ์เป็นแกนกลางในการยึดมั่นของประชาชน
มหายานถือว่าพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วน แต่เถรวาทมีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว คือ ‘พระสมณโคดม’
‘พระอมิตาภพุทธะ’ เป็นพระพุทธเจ้าในคติความเชื่อของนิกายมหายาน แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในนิกายเถรวาท
มหายานถือปริมาณเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆ ตามมา จึงได้มีการตั้ง’อุปายโกศล’ (รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ) ชักจูงคนให้มาเลื่อมใส และลดหย่อนกฏได้ตามกาลเทศะ แต่เถรวาทถือคุณภาพของคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
คณะพระสงฆ์ญี่ปุ่น
จากที่ได้อ่านไป นี่เป็นเพียงความแตกต่างส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาจากกฏเกณฑ์ทั้งหมดเท่านั้น แต่เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนแล้วใช่มั้ยคะ ถ้างั้นต่อไป เรามาดูเคสตัวอย่างที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพมากกว่านี้กันค่ะ !
เคสตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่ทำได้
‘การ์ตูนเรื่อง ศาสดาลาพักร้อน (聖☆おにいさん)’ เรื่องราวคอเมดี้สบายๆ ของ 2 คู่หูดูโอ้ ‘พระพุทธเจ้าและพระเยซูเจ้า’ ที่ลงมาพักผ่อนแบบชิลๆ ในประเทศญี่ปุ่น โดยเนื้อหาของเรื่องได้สอดแทรกคำสอนทั้งพุทธและคริสต์อย่างแนบเนียน แถมยังเป็นการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมมาท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า ตามรอยสถานที่ต่างๆ จากการ์ตูนไปได้อีกด้วยนั่นเอง
‘การ์ตูนเรื่อง มหาศึกคนชนเทพ (終末のワルキューレ)’ เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างเทพกับมนุษย์ ซึ่งตัวละครฝั่งเทพในเรื่อง ก็ได้ถูกหยิบยกมากจากตำนานฉบับต่างๆ รวมไปถึงตัวละครฝั่งมนุษย์ที่ส่วนใหญ่เป็นวีรบุรุษ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในทางที่ดีหรือแม้กระทั่งในทางอาชญากรรม ถือว่าเป็นการ์ตูนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติตัวศาสตร์ ตำนาน และความเชื่อไปพร้อมกับได้รับความบันเทิงจากฉากแอคชั่นอีกด้วย
พระศิวะ VS ไรเดน ฉากปัญหาที่ว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ทางอินเดียสั่งแบน
‘ขนมและของฝากหน้าพระพุทธรูป’ ถูกขายและจัดจำหน่ายอยู่ในวัดโคโตะกุอิน ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพระใหญ่ไดบุตซึ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากพระใหญ่ไดบุตสึ ตุ๊กตาพระใหญ่ ขนมรูปพระใหญ่ รวมไปถึงพวงกุญแจพระใหญ่ไดบุตสึ คิดตี้ไดบุตสึสีหวานแหวว ไทยากิ พุดดิ้ง เยลลี่ และอมยิ้มรูปหลวงพ่อไดบุตสึ เรียกได้ว่าอะไรก็ทำได้จริงๆ
ขนมไทยากิรูปพระใหญ่ไดบุตสึ
เคสตัวอย่างของประเทศไทยที่เกิดข้อพิพาท
‘การ์ตูนเรื่อง ศาสดาลาพักร้อน (聖☆おにいさん)’ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศไทย ว่าเป็นการ์ตูนที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมต่อพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ ว่าด้วยเนื้อเรื่องที่ได้สอดแทรกมุขตลกเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า จนทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย
พระพุทธเจ้า หรือบุดด้าถูกวาดด้วยท่าทางต่างๆ เช่น ทำท่าเทศนา และการวาดสีหน้าต่างๆ ที่ถูกทำให้เป็นที่ขำขันเหล่านี้ จึงทำให้ไม่เป็นที่พอใจต่อคนที่ศรัทธาเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการล้อเลียนได้
‘ขนมอาลัวรูปพระเครื่อง’ จากเหตุที่กล่าวว่าพระเครื่องถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถยอมรับที่จะเอามาทำเป็นของกินเล่นแบบนี้ได้ ในขณะที่ก็มีอีกแนวคิดที่ได้ยกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้สอนให้ชาวพุทธยึดติดกับสิ่งใดๆ นอกจากคำสอน แต่อย่างไรก็ตามสุดท้าย ร้านมาดามชุบเจ้าของขนมดังกล่าวก็โดนสั่งห้ามไม่ให้ทำขนมอาลัวรูปพระเครื่องไปแล้วเรียบร้อย
(ที่มา: https://www.facebook.com/madamchoops/)
จากข้อมูลและเคสตัวอย่างที่ทางผู้เขียนได้ค้นหามาแล้วนั้น ก็ทำให้พบว่าด้วยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้มุมมองต่อศาสนาและการนับถือศาสนาของทั้งสองประเทศก็มีความแตกต่างกันไปด้วยนั่นเอง รวมไปถึงสิ่งที่สำคัญอย่างเรื่องของ “การปฏิวัติศาสนา” ก็นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานทางสังคมใหม่ๆ ตามมาอีกด้วย
แต่ใช่ว่าจะมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่เกิดประเด็นเหล่านี้ขึ้น ยังมีอีกหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงอีกหลายศาสนา ที่ต่างก็ให้อิสระและไม่ให้อิสระกับบางเรื่องที่แตกต่างกันไป (ขนาดเรื่องใหญ่ๆ อย่างการมีคู่ครองได้กี่คนยังเห็นไม่ตรงกันเลย..) นี่ยังไม่นับไปถึงลัทธิต่างๆ ที่กลายมาเป็นตัวเลือกทางความเชื่ออีกมากมาย(ที่แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็เคยเกิดปัญหาระดับรุนแรงกับความอิสระของลัทธิจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมระดับประเทศเลยนะคะ..)
เช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงต้องขอมองว่าพวกเราทุกคนล้วนมีอิสระในการสร้างผลงานและแสดงความคิดเห็นต่อศาสนาที่เรานับถือ แต่อย่างไรก็ตามสังคมก็จะเป็นผู้ตัดสินถึงขอบเขตอันควรของอิสระนั้นๆ เอง
ดังนั้นก็จงให้ความสำคัญต่อสังคม ผ่านเจตนาและความตั้งใจที่ดีในการสร้างผลงานกันต่อไป แล้วสุดท้ายสังคมที่เข้าใจและยอมรับถึงเจตนาที่ดีอย่างแท้จริง ก็คงจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนใช่มั้ยคะ ?
วันนี้ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่กับบทความเกี่ยวกับการ์ตูน ศิลปะ และภาพยนตร์ ได้ที่เว็บ Plotter ค่ะ
อ้างอิง:
- บทความเรื่อง “สิ่งใดที่ทำให้การออกแบบ – แบบญี่ปุ่น ทรงอิทธิพล ร่วมกันไปหาคำตอบได้ใน Japanese Design Today 100” เผยแพร่ในเว็บไซต์ zipeventapp.com
- บทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ mgronline.com
- บทความเรื่อง “ความแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายาน” เผยแพร่ในเว็บไซต์ gotoknow.org
- ข่าว “รู้รสพระธรรม! ส่องของฝาก-ขนมแสนอร่อย รูปพระพุทธรูป หน้าวัดดังในญี่ปุ่น” เผยแพร่ในเว็บไซต์ khaosod.co.th