บทความโดย SANGCHU
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ชาว Plotter กลับมาพบกันอีกครั้งกับ SANGCHU ค่ะ จะเห็นว่าช่วงนี้คนในสังคมเริ่มให้ความสนใจกับเพศทางเลือกมากขึ้น จนเกิดการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งในแง่ทัศนคติที่รณรงค์ให้หยุดการเหยียดเพศ รวมไปถึงยกเลิกข้อกฎหมายที่เอื้อต่อสังคม “ปิตาธิปไตย” (Patriarchy ระบบที่ใช้เอื้ออำนวยให้ผู้ชายหรือสังคมชายเป็นใหญ่) ซึ่งแม้แต่ในวงการบันเทิงก็ให้ความสำคัญด้านการผลิตสื่อภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ LGBTQ มากขึ้นด้วย
อย่างวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีการให้พื้นที่ LGBTQ เฉิดฉายอยู่บนจอเงินมานานนับทศวรรษ ผลิตภาพยนตร์ดีๆ ที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศอย่าง “Brokeback Mountain” และ “Moonlight” ที่กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่ก็มีภาพยนตร์ LGBTQ ยอดนิยมมากมายอย่าง call me by your name, love simon ฯลฯ
มาที่ด้านวงการบันเทิงในประเทศไทยก็มีซีรีส์ชายรักชายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งก็มีทั้งซีรีส์น้ำดีที่สะท้อนบทบาทและตัวตนของ LGBTQ ไปจนถึงซีรีส์ที่เน้นฉากวาบหวิว เซอร์วิส หรือแม้แต่ในการ์ตูนเองก็มีเริ่มมีตัวละครเพศทางเลือกปรากฏอยู่มากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามการนำเสนอของสื่อบางประเภทก็อาจมองได้ว่าสวนทางกับการเรียกร้องความเท่าเทียม อย่างการใช้ถ้อยคำเหยียดเพศในละครบางเรื่อง หรือการเป็นตัวตลกในเกมโชว์ต่างๆ ซึ่งจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี่เอง ที่ทำให้วันนี้เราอยากชวนทุกคนตั้งคำถามต่อบทบาทของ LGBTQ ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการ์ตูน ว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียกร้องสิทธิในปัจจุบันหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน …ถ้าพร้อมแล้ว เลื่อนไปอ่านพร้อมกันเลยค่า
ทำความรู้จักกับเพศทางเลือกกันก่อน !!
แต่ก่อนจะไปพูดถึงบทบาทที่เหมาะสม อันดับแรก เรามาทำความรู้จักกับเหล่าเพศทางเลือกทั้งหมดกันก่อน ซึ่งในทางสากลนั้นจะเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแบบเต็มยศว่า LGBTQIA+ ซึ่งแต่ละตัวอักษรแทนชื่อเรียกของเพศนั้นๆ ดังนี้
L : Lesbian ผู้หญิงที่ชื่นชอบผู้หญิง
G : Gay ผู้ชายที่ชื่นชอบผู้ชาย
B : Bisexual บุคคลที่ชอบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
T : Trans Gender ชายหรือหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศ
Q : Queer กลุ่มคนที่ไม่มีเพศหรือไม่ระบุเพศ
I : Intersex ภาวะเพศกำกวม (เป็นความผิดปกติของอวัยวะเพศ และเป็นโดยกำเนิด)
A : Asexuality บุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ ซึ่งจะมีความชอบแบบโรแมนติก แต่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตามตัวอักษรและคำจำกัดความเหล่านี้เป็นเพียงกรอบบางๆ ของเพศทางเลือกเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องของ Sexual Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) และ Sexual Orientation (รสนิยมทางเพศ) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้นไปอีก ส่งผลให้หลายความสัมพันธ์ยากที่จะนิยามได้ จึงเพิ่ม “+” ลงไปในคำที่ใช้เรียกเพศทางเลือก เพื่อเน้นย้ำความหลากหลายที่มากกว่าความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไป
ตัวอักษรและคำจำกัดความเหล่านี้
เป็นเพียงกรอบบางๆ
ของเพศทางเลือกเท่านั้น
**ทั้งนี้ ในบทความของเราจะขอใช้เพียง “LGBTQ” เนื่องจากบทบาทของตัวละครส่วนใหญ่ที่เรานำมาฝากทุกคนยังไม่มีความหลากหลายเทียบเท่ากับโลกในความเป็นจริงค่ะ
ประวัติย่อของ LGBTQ ในโลกคู่ขนาน
การเดินทางของสังคม LGBTQ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกจริงและโลกการ์ตูน แต่ละฝ่ายสะท้อนตัวตนของเพศทางเลือกเหล่านี้อย่างไร และในช่วงเวลาเดียวกันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ความจริงแล้วชาว LGBTQ มีตั้งแต่ยุคกรีกโบราณในฐานะเสรีภาพใหม่นาม กองพันศักดิ์สิทธิ์แห่งธีบส์ (Scared Band of Thebes) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักรบเกย์ทั้งหมด 150 คู่ เนื่องจากในยุคกรีกโบราณ ความสัมพันธ์ชายรักชายเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป และการได้ร่วมรบกับคนรักจะส่งผลต่อการเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย
โดยพลูตาร์ซได้บรรยายถึงกองทัพแห่งธีบส์ว่า “สัมพันธ์ที่สานไว้ด้วยมิตรภาพระหว่างคู่รักเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบล้างและทำลายได้ ด้วยพวกเขาต่างละอายที่จะแสดงความขี้ขลาดต่อหน้าคนรัก และทั้งคู่ย่อมเคียงข้างกันเมื่อตกอยู่ในอันตราย” แต่เมื่อศาสนาเกิดขึ้น และได้กำหนด “จารีต ศีลธรรม” ส่งผลให้เกย์กลายเป็นเรื่องผิดบาปและถูกลดทอนคุณค่าในที่สุด
ด้วยพวกเขาต่างละอาย
ที่จะแสดงความขี้ขลาดต่อหน้าคนรัก
และทั้งคู่ย่อมเคียงข้างกัน
เมื่อตกอยู่ในอันตราย
ค.ศ. 1900 – 1950 เปรียบเสมือน “ยุคมืดของ LGBTQ” เพราะโดนกดขี่จากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในกลุ่มประเทศยุโรปที่ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน หากฝ่าฝืนจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกวิกลจริต หรือในยุคนาซีเรืองอำนาจได้มีการจับเกย์เข้าค่ายกักกันราว 10,000 คนเพื่อปรับพฤติกรรมและมีชะตากรรมไม่ต่างจากคนยิว
ซ้ำร้ายคริสตจักรยังให้ความสำคัญกับพิธีแต่งงานของชายและหญิง ตอกย้ำว่า LGBTQ เป็นกลุ่มคนชายขอบทางวัฒนธรรม แม้ว่าในยุคนั้นจะมีนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาพูดว่าการกดเพศทางเลือกไว้จะยิ่งเลวร้าย แต่ก็ไม่สามารถสู้กับ “พลังศรัทธาในพระเจ้า” ได้
ค.ศ. 1969 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดเหตุการณ์ The Stonewall Inn เป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาว LGBTQ มาจากการพยายามตรวจค้นผับเพื่อตามจับบุคคลที่ไม่แต่งตัวตามเพศสภาพ (พูดง่ายๆ ก็คือตามจับเกย์และเลสเบียนนั่นแหละ) ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตำรวจได้ทำร้ายเลสเบียนคนหนึ่งทำให้ชาว LGBTQ ที่อยู่ในผับลุกฮือขึ้นต่อต้าน การปะทะกันครั้งนี้กลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้เกิด Pride Month (1970) และการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในเวลาต่อมา


ในปีเดียวกันนั้น นอกจาก LGBTQ จะเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว การ์ตูนชายรักชาย หรือ Yaoi ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น !! เริ่มต้นจากนักวาดการ์ตูนมือสมัครเล่น (โดจินชิ) เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ชายรักชาย และเนื่องจากที่มาของการ์ตูน Yaoi จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ผู้หญิง” ที่ถูกกดขี่จากเพศชายมาช้านานจนต้องการการปลดปล่อย ก็อาจทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวทางของการ์ตูนนั้นอาจไม่ช่วยให้ผู้อ่านรู้จัก LGBTQ ในบทบาทที่เหมาะสมเท่าใดนัก

Kaze To Ki No Uta การ์ตูน Yaoi เรื่องแรกที่สามารถขายบนดินได้ในประเทศญี่ปุ่น
และต่อมาโชคชะตาก็กลั่นแกล้งอีกครั้งเมื่อมีการค้นพบโรค GRID : Gay Related Immune Deficiency หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดกับเกย์ (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น AIDS ในปัจจุบันค่ะ) ซึ่งโรคนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับ Gay Culture ทั้งในแง่ของการระบาดที่รุนแรงและความกลัวที่เกิดจากการไม่รู้
สื่อหลักเองก็ประโคมข่าว โยนความผิดให้กับเกย์ทั้งที่ความจริงโรคนี้สามารถติดต่อได้ทุกเพศ และยังสามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ เช่นที่เราทราบกันในปัจจุบัน
สื่อหลักเองก็ประโคมข่าว
โยนความผิดให้กับเกย์
ทั้งที่ความจริงโรคนี้
สามารถติดต่อได้ทุกเพศ

ค.ศ. 1990 กลุ่มเพศทางเลือกมีภาพรวมที่ดีขึ้น การคุกคามลดน้อยลง และเริ่มมีตัวการ์ตูน LGBTQ แฝงเข้ามาในการ์ตูนที่โด่งดังในปลายยุค 90 เช่น Mr.2 ในเรื่อง One Piece (1997) โจรสลัดกะเทยที่ได้รับพลังจากผลปีศาจมาเนะมาเนะ หรือ ไอดา ตัวการ์ตูน Trans Gender จากเรื่อง Family Guy (1999) แม้อุตสาหกรรมเหล่านี้จะผลิตบทบาทซ้ำๆ อย่างบทตัวตลกให้กับ LGBTQ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ์ตูนเหล่านี้ช่วยชี้ทางให้สังคมหันมามองเพศทางเลือกมากขึ้น
ค.ศ. 2000 Internet เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน LGBTQ เคยซ่อนตัวจากซอกมุมเล็กๆ ในแต่ละประเทศได้ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ เกิดสังคม LGBTQ ที่กว้างขวางและเข้มแข็ง เพศทางเลือกก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญในสังคมอย่างการเป็น สส. หรือได้รับรางวัลระดับโลก และกฎหมายก็ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ความสำคัญกับเพศทางเลือกมากขึ้นด้วย

ธัญวาริญญ์ สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล
ส.ส.เพศทางเลือกคนแรกในสภา

Sir Elton Hercules John นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง LGBTQ ชาวอังกฤษผู้ประสบความสําเร็จอย่างมากในช่วงยุค 70 มียอดขายรวม 550 ล้านชุด

Sam Smith ขึ้นรับรางวัล Oscar สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปี 2016
และในช่วงปลาย ค.ศ. 2000 นี่เองที่การ์ตูน Yaoi เข้ามาในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก และยังถูกจัดเป็นงานเขียนใต้ดินต้องซื้อขายอย่างหลบซ่อน โดยให้เหตุผลว่า “เป็นสื่อที่มีความโน้มเอียงไปในลักษณะสื่อลามกยั่วยุกามรมณ์ สามารถส่งผลเสียต่อเยาวชน” อีกด้วย
บทบาท LGBTQ กับภาพจำที่ถูกเหมารวม
หลังจากเปรียบเทียบพัฒนาการของ LGBTQ ในโลกจริงและโลกของการ์ตูนแล้ว คราวนี้เราจะมาดูบทบาทของตัวการ์ตูนกันบ้าง ซึ่งบทบาทเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ พอเริ่มคุ้นตา ก็กลายเป็นความเคยชิน และอาจกลายเป็นการเหมารวมภาพลักษณ์ของ LGBTQ ในที่สุด
1.รับบทตัวตลกตลอดกาล
บทบาทของ LGBTQ ที่พบได้บ่อยคือบทของตัวตลก สร้างสีสันให้กับเรื่องราว ปรากฎตัวด้วยชุดสุดอลังการ แต่งหน้าจัด และพกมุกตลกมาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกที่มีชั้นเชิงไปจนถึงมุกตลกเจ็บตัว และมักจะมีการเหยียดเพศทั้งแบบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจพ่วงมาด้วยเสมอ
ยกตัวอย่าง Mr.2 จากเรื่อง One piece ที่โดดเด่นด้วยเสื้อคลุมปักคำว่า “กะเทย” ด้านหลัง สวมรองเท้าบัลเล่ต์ มีพลังวิเศษสามารถเปลี่ยนหน้าตาของตนเป็นใครก็ได้ บางครั้งเขาก็ใช้พลังนี้เพื่อสร้างการแสดงที่ทำให้ทุกคนหัวเราะได้ และแม้ว่าในท้ายที่สุดเขาจะได้รับการยอมรับจากโจรสลัดและผู้ชม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่น่าจดจำก็เพราะเขาดูเหมือนตัวตลกที่ทำอะไรก็น่าขำไปหมด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่ง
ที่ทำให้เขาเป็นที่น่าจดจำ
ก็เพราะเขาดูเหมือนตัวตลก
ที่ทำอะไรก็น่าขำไปหมด

ยังมีสมาชิก LGBTQ หน้าใหม่ อย่าง SpongeBob SquarePants ซึ่งผู้กำกับได้ออกมาเผยว่าเจ้าฟองน้ำสีเหลืองตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Asexual หรือกลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ ก็ยังถูกจดจำจากการทำตัวไร้สาระในเมือง Bikini Bottom และทำเรื่องเพี้ยนๆ ให้เราหัวเราะได้เสมอ

2.รับบทคนโนแคร์โนสน
ตัวการ์ตูนเพศทางเลือกมักถูกเล่าว่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และไม่สนใจว่าคนภายนอกจะมองเข้ามาอย่างไร มีภาษาที่ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม(เห็นได้ชัดที่สุดคือเกาะกะเทยในเรื่อง One Piece)และเมื่อทุกคนมาอยู่รวมกัน จะรับรู้ได้ถึงอำนาจบางอย่าง ที่แสดงให้เราเห็นว่าเขาไม่ได้กลัวโลกภายนอกเลยแม้แต่น้อย
หรือแม้แต่การ์ตูนสำหรับเด็กอย่าง Gravity Falls ที่แอบซ่อนตัวการ์ตูนเกย์ไว้คือ นายอำเภอ Blubs และรองนายอำเภอ Durand ทั้งสองเป็นพวกไม่ชอบเข้าสังคม แต่เวลาที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน จะทำเรื่องโง่เง่าสุดขีด และเข้าใจกันและกันเสมอ

นอกจากนี้ยังมี Matthew จากเรื่อง Big Mouth ที่ภายนอกดูเพอร์เฟ็คทั้งรูปร่างร่าง หน้าตา และความสามารถ แต่ลึกๆ เขายกย่องเพศของตนเองอยู่เหนือกว่าทุกเพศ มีแอบจิกกัดเพื่อนสาวบ้างบางครั้ง และดูถูกเพื่อนผู้ชาย ส่งผลให้เขาเข้าสังคมที่เต็มไปด้วยชายจริงหญิงแท้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และชอบอยู่ในสังคมที่รายล้อมไปด้วย LGBTQ มากกว่า

3.รับบทคนหมกมุ่น
LGBTQ มักถูกเรียกว่า “รักร่วมเพศ” ซึ่งทำให้เกิดภาพจำว่าชาว LGBTQ หมกมุ่นเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งแท้จริงแล้วความรักของเพศทางเลือกเหล่านี้ก็ มีการตกหลุมรัก จีบ อกหัก เหมือนคู่รักของชายหญิงทั่วไป และการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์เท่านั้น

ตัวการ์ตูนที่ถูกนำเสนอด้านนี้มากที่สุดคือ Connie จากเรื่อง Brickle Berry เธอเป็นเลสเบียนที่่มีร่างกายบึกบึน เสียงใหญ่เหมือนผู้ชาย เธอแข็งแรงมากจนได้รับฉายาว่า “Lesbian Strength” และเธอยังมีวิธีจีบสาวที่คุกคามอย่างหนัก เช่นการวางแผนรวบหัวรวบหาง Ether สาวเพื่อนร่วมงานของเธอ หรือแสดงออกว่ามีความต้องการทางเพศสูงด้วยการจินตนาการถึง sex เมื่อได้พบกับหญิงสาวที่ตรงสเปค
นอกจากนี้ยังมี Hopson จากเรื่อง Paradise PD เกย์สูงวัยที่ชอบโชว์ของลับ และล่อลวงชายหนุ่มไปมีเพศสัมพันธ์ด้วยเสมอ ซึ่งหากใครได้ติดตามการ์ตูนเรื่องนี้ อาจยกเรื่องพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของ Hopson มาอ้างว่าเขาอาจเป็นชายแก่ที่สติเลอะเลือน แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เขาทำก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศที่ร้ายแรงเกินกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ
ฝั่งอนิเมะเองก็มี Nathan Seymour จากเรื่อง Tiger & Bunny ตัวการ์ตูนเกย์ที่ชอบเกาะแกะผู้ชายเมื่อมีโอกาส ทั้งกระโดดกอด เอาแก้มแนบกัน ไปจนถึงพยายามหอมแก้มทั้งที่อีกฝ่ายไม่ยินดีอีกด้วย
ตัวการ์ตูนเหล่านี้สร้างสีสันให้เรื่องราว
แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพจำที่ไม่ดีว่า
เพศทางเลือกมักหมกมุ่นเรื่องเพศ
แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ตัวการ์ตูนเหล่านี้จะสร้างสีสันให้เรื่องราว แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพจำที่ไม่ดีว่า เพศทางเลือกมักหมกมุ่นเรื่องเพศให้กับสังคม..
4.รับบทคนขี้โรค
สืบเนื่องมาจากโรค AIDS ที่ทำลายภาพลักษณ์ของเกย์ในช่วงปี 1980 รวมไปถึงสร้างความเสียหายให้กับ Gay Culture และยังเกิดความเข้าใจผิดในสังคม จนเกย์ในยุคนั้นกลายเป็นเหยื่อที่ถูกสังคมรังเกียจ บางครั้งเราจึงพบตัวการ์ตูนที่ถูกล้อเลียนว่าเป็น AIDS หรือต่อสู้กับโรคนี้

เช่นตัวการ์ตูนฮีโจจากค่าย DC อย่าง “Extrano” ฮีโร่เกย์ตัวแรก ปรากฎตัวในปี 1988 ชอบแต่งตัวหรูหรา เจ้าสำอางค์ และเก่งเรื่องการต่อสู้ เขาต้องต่อสู้กับวายร้าย ซึ่งภายหลัง DC เปิดเผยว่าวายร้ายตัวนั้นสัญลักษณ์ของโรค AIDS ทำให้ฮีโร่ต้องตกที่นั่งลำบาก และถูกโจมตีจากชาว LGBTQ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า DC ไม่เข้าใจเพศทางเลือกแม้แต่น้อย

5.รับบทเหยื่อ
บทบาทที่ถูกกระทำจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นการถูกเหยียดด้วยคำพูด ไปจนถึงการถูกทำร้ายร่างกาย อาจเป็นผลพวงมาจากยุคมืดของ LGBTQ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเกย์เป็นเรื่องเลวร้าย และพยายามขับไล่คนเหล่านั้นออกจากสังคม

ตัวการ์ตูนที่ได้รับผลกระทบนั้น คือ Patty Bouvier เลสเบี้ยนจากเรื่อง The Simpsons เธอชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เธอถูกพูดจาเหยียดจาก Homer Simpsons อยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งโฮมเมอร์เผลอเข้าไปในห้องน้ำที่แพตตี้อาบน้ำอยู่ เขาตกใจมากที่เห็นเธอโป๊เปลือย รีบวิ่งออกจากห้องน้ำและใช้น้ำยาซักผ้าล้างตาด้วยความรังเกียจ
เขาตกใจมากที่เห็นเธอโป๊เปลือย
รีบวิ่งออกจากห้องน้ำ
และใช้น้ำยาซักผ้าล้างตาด้วยความรังเกียจ

ยังมี Ida จากเรื่อง Family Guy เธอคือพ่อของแควกไมร์ที่ผ่านการแปลงเพศมา (Trans Gender) ภายนอกดูเหมือนเธอจะได้รับการยอมรับ ทว่าลับหลังคนเหล่านั้นกลับดูถูกเธอ แม้แต่โลอิสเองก็ยังแอบสั่งให้ลูกสาวเอาอาหารที่ไอดาให้ไปทิ้งข้างนอก และสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือแม้แต่ลูกแท้ๆ อย่างแควกไมร์เองก็ไม่ยอมรับการตัดสินแปลงเพศของไอดา
บทบาทที่ผิดเพี้ยนไปในการ์ตูน Yaoi
เราได้เห็นตัวการ์ตูนเพศทางเลือกที่แฝงอยู่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งถือเป็นการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทั่วไป อ่านได้ทุกเพศ ทุกวัย คราวนี้เราลองมาดูการ์ตูนเฉพาะกลุ่มกันบ้าง อย่างการ์ตูน Yaoi และ Yuri ซึ่งเจาะไปที่ความสัมพันธ์แบบชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง
จากการที่ตัวการ์ตูนเพศหญิงอ่อนแอ
รอให้ผู้ชายมาช่วยเหลือ
บางครั้งก็กลายเป็นวัตถุทางเพศ
นักวาดผู้หญิงจึงลุกขึ้นมา
แสดงพลังด้วยการสร้าง Yaoi
โดยการ์ตูนเหล่านี้มีเบื้องหลังมาจากการที่ตัวการ์ตูนเพศหญิงอ่อนแอ รอให้ผู้ชายมาช่วยเหลือ บางครั้งก็กลายเป็นวัตถุทางเพศ นักวาดผู้หญิงจึงลุกขึ้นมาแสดงพลังด้วยการสร้าง Yaoi (Yama nashi, Ochi nashi, Imi nashi แปลว่า “ไม่มีจุดพีค ไม่มีจุดสรุป ไม่มีประเด็น”) ที่มีตัวละครเพศชายนิสัยคล้ายผู้หญิงและถูกผู้ชายด้วยกันกดขี่ ที่สำคัญนักวาดการ์ตูน Yaoi กว่า 80% ยังเป็นผู้หญิงอีกด้วย… ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า จุดเริ่มต้นของการ์ตูนวายจะเกี่ยวข้องกับมุมมองของเพศหญิง มากกว่าเรื่องของสังคม LGBTQ นั่นเอง
และเมื่อการ์ตูน Yaoi เผยแพร่ออกไปก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้หญิงและเกย์ เพศทางเลือกเริ่มกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้จะยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรก็ตาม ซึ่งในงานเขียนยุคใหม่ๆ นั้น ก็ได้มีการปรับปรุงเนื้อหา รวมไปถึงเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งเสริมความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ก็มีการมองว่าการ์ตูน Yaoi ในบางเรื่องนั้นเน้นขายภาพวาบหวิวมากกว่าเนื้อหา บางครั้งก็อยากเอาใจกลุ่มเป้าหมายจนดูไม่เป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับซีรีส์ที่เน้นขายคู่จิ้นจนละเลยเรื่องความสมเหตุสมผลในบท หรือแม้แต่บทสนทนาสั้นๆ ที่ปฏิเสธว่าตนไม่ใช่กลุ่มเพศทางเลือก แต่หลงรักผู้ชายด้วยกัน ทำให้เกิดการลดทอนอัตลักษณ์ของ LGBTQ ให้เหลือแค่ความรักของผู้ชายสองคน แทนการมองว่านี่เป็นความรักของ “เกย์”
บทสนทนาสั้นๆ ที่ปฏิเสธว่า
ตนไม่ใช่กลุ่มเพศทางเลือก
แต่หลงรักผู้ชายด้วยกัน
ทำให้เกิดการลดทอนอัตลักษณ์ของ LGBTQ
ให้เหลือแค่ความรักของผู้ชายสองคน
แทนการมองว่านี่เป็นความรักของ “เกย์”
ซึ่งจากในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ในอดีตการ์ตูนเฉพาะกลุ่มเหล่านี้ดูเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของคนบางกลุ่มมากกว่าจะสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนหรือให้ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQ แต่ในปัจจุบันสายผลิตเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้มีการปรับบทบาทให้เหมาะสม แม้จะยังมีความเข้าใจผิดๆ อยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตสื่อเหล่านี้จะสามารถปรับให้หลากหลายได้
มุมมองจากสายผลิต
หลังจากดูพัฒนาการของตัวการ์ตูน LGBTQ แล้ว เราจะเห็นได้ว่าอาจยังไม่ได้สอดคล้องกับการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ พอสมควร อย่างไรก็ตาม มุมมองข้างต้นเป็นมุมมองของผู้รับสาร ที่ได้เห็นตัวการ์ตูนเหล่านี้โลดแล่นในหนังสือหรือจอแก้วและวิเคราะห์ผ่านเนื้อเรื่อง แล้วในมุมมองของสายผลิตล่ะ พวกเขารู้สึกอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง
วันนี้เราได้นำบทสัมภาษณ์ของ “หน่วยกล้าวาย” หรือคุณจิรฐา กองมา นักเขียนนิยาย Yaoi “เกมเมอร์และน้องเด๋อของเขา #ซอโซ่ล่ามธีร์” ที่มียอดวิวในเว็บไซต์ Dek-D กว่า 900,000 วิว และกำลังจะกลายเป็นซีรีส์ให้เราได้ชมกันเร็วๆ นี้ มาดูกันว่าในฐานะนักเขียน ผลิตนิยายที่มีตัวเอกเป็น LGBTQ จะมีมุมมองกับประเด็นนี้อย่างไร

Q: ในฐานะนักเขียนนิยาย Yaoi คิดว่าสื่อ Yaoi มีส่วนช่วยในการผลักดัน LGBTQ มากน้อยแค่ไหนคะ
A: รู้สึกว่าสื่อไม่ได้มีส่วนช่วยค่ะ บางกรณีเป็นการสร้างภาพจำที่ผิดต่อ LGBTQ+ ด้วยซ้ำ เช่น การเอาคอนเซปต์ Gender Binary (การจำกัดกรอบทางเพศ ตามบทบาทของชายกับหญิงเท่านั้น) ไปผูกติดกับความสัมพันธ์ของเกย์ว่าฝ่ายหนึ่งจะต้องบอบบาง ตัวเล็ก ส่วนอีกฝ่ายต้องแมน ตัวสูง มีกล้าม Yaoi เหมือนเป็นการ Fetish (การมีอารมณ์ทางเพศต่อวัตถุและเรือนร่าง) เกย์เพื่อตอบสนองความแฟนตาซีของผู้หญิงมากกว่าค่ะ
แต่ปัจจุบันเห็นคนออกมาสร้างความตระหนักเรื่องเหล่านี้มากขึ้น หลายประเด็นมีการหยิบมาดีเบทกันในโซเชียลมีเดียกันแพร่หลาย มีทั้งคนที่เปิดใจฟังและคนที่ไม่เปิดใจ แต่คิดว่าการหยิบประเด็นพวกนี้มาดีเบทค่อนข้างจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ คนที่ไม่รู้ก็ได้ Educate ตัวเองไปด้วย
“บางกรณีเป็นการสร้างภาพจำที่ผิดต่อ LGBTQ+ ด้วยซ้ำ
เช่น การเอาคอนเซปต์ Gender Binary (การจำกัดกรอบทางเพศ ตามบทบาทของชายกับหญิงเท่านั้น)
ไปผูกติดกับความสัมพันธ์ของเกย์”
Q: คิดว่าภาพรวมบทบาทของ LGBTQ+ ในสื่อต่างๆ เหมาะสมแล้วหรือยังคะ
A: คิดว่าบทบาทของ LGBTQ+ ในสื่อกระแสหลักยังถูกจำกัด มีหลายกรณีที่ LGBTQ+ ถูกจำกัดจากการรับบทนำ เห็นได้จากละครที่มีตัวละครหลักเป็น LGBTQ+ แต่ให้ Straight (ชายจริงหญิงแท้) เป็นคนแสดง ในหลายสื่อยังนำเสนอลักษณะเฉพาะบางประการ (Specific Characteristic) แทน LGBTQ+ ทำให้สังคมเกิดภาพจำที่เป็นลบ เช่น ตามรายการวาไรตี้ยังนำเสนอภาพลักษณ์ของกะเทยว่าต้องเป็นคนตลก ตามพาดหัวข่าวยังนำเสนอว่าทอมเป็นเพศเกรี้ยวกราดใช้ความรุนแรง
“LGBTQ+ ถูกจำกัดจากการรับบทนำ
เห็นได้จากละครที่มีตัวละครหลัก
เป็น LGBTQ+ แต่ให้ Straight
(ชายจริงหญิงแท้) เป็นคนแสดง”
Q: แล้วในแง่ของ Feedback ที่เราได้รับจากนักอ่านชาว LGBTQ+ นี่เป็นอย่างไรบ้างคะ
A: มีนักอ่านที่เป็น LGBTQ+ นะคะ แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยมี Feedback เรื่องขับเคลื่อนประเด็นเพศ แต่จะเป็นประเด็นในสังคมมากกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเขียนพล็อตทำนองนี้ค่ะ
Q: การเรียกร้องความเท่าเทียมมีผลต่อการเขียนนิยายด้วยไหมคะ
A: มีค่ะ ก่อนหน้านี้เคยมีคนดีเบทกันประเด็นนี้ จนทำให้กดดันตัวเองว่าเราควรเขียนนิยายเพื่อส่งเสริม LGBTQ+ ให้มากกว่านี้นะ เราเอาสิ่งที่เขาเป็นมาเขียนแล้วเราไม่ควรทำให้แย่ลง อันนี้ก็ทำให้ตระหนักเหมือนกันค่ะว่าสิ่งที่เราเขียนได้ทำร้ายใครไหม ไม่อยากให้ใครมอง LGBTQ+ ไม่ดีเพราะงานเขียนตัวเองค่ะ
“เราเอาสิ่งที่เขาเป็นมาเขียนแล้ว
เราไม่ควรทำให้แย่ลง
อันนี้ก็ทำให้ตระหนักเหมือนกันค่ะ
ว่าสิ่งที่เราเขียนได้ทำร้ายใครไหม”
Q: อยากฝากอะไรถึงนักอ่าน หรือว่า LGBTQ เพิ่มเติมไหมคะ
A: ไม่ว่าจะเพศไหนก็อยากให้เป็นตัวของตัวเอง รักตัวเองให้มากๆ แล้วก็ขอให้มีความสุขกับทุกวันนะคะ ชีวิตคนเรามันสั้นมาก เผลอแป๊บเดียวก็มาไกลแล้ว เอนจอยแล้วก็ภูมิใจกับสิ่งที่เราเป็นให้คุ้มค่าที่สุดนะคะ

นี่คือมุมมองจากสายผลิตที่เรานำมาฝากทุกคนค่ะ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันที่มีการผลักดันให้คนในสังคมเข้าใจ LGBTQ มากขึ้น สายผลิตเองก็พยายามปรับตัวไม่ให้ผลงานของตนส่งผลด้านลบต่อ LGBTQ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมด้วยเช่นกัน
มุมมองจากตัวแทน LGBTQ
คราวนี้เรามาดูมุมมองของ LGBTQ ต่อประเด็นนี้กันบ้าง จากการพูดคุยกับเพศทางเลือก เราพบว่าบทบาทในสื่อต่างๆ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของชาว LGBTQ เช่น บทบาทคนตลก คนเก่งรอบด้าน คนที่หมกมุ่นเรื่องเพศ และนำไปสู่การเหมารวม ซึ่งต่อให้เป็นการเหมารวมในเชิงบวกอย่างการเป็นสีสันของสังคม หรือการเหมารวมในแง่ร้ายว่าเป็นพวกวิปริตผิดเพศ ล้วนแล้วแต่สร้างผลเสียทั้งสิ้น
LGBTQ นั้นยังมีคนที่
ไม่ชอบเรื่องตลกขบขัน
ไม่ได้เก่งรอบด้าน
หรือไม่สันทัดเรื่องเพศศึกษา
เช่นเดียวกับเพศชายและเพศหญิง
เนื่องจากในสังคมของ LGBTQ นั้นยังมีคนที่ไม่ชอบเรื่องตลกขบขัน ไม่ได้เก่งรอบด้าน หรือไม่สันทัดเรื่องเพศศึกษา เช่นเดียวกับเพศชายและเพศหญิง เมื่อต้องเผชิญกับการเหมารวม คนเหล่านั้นก็จะรู้สึกกดดันและอาจต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างหนักเพื่อให้สังคมยอมรับ

วันนี้ เรายังมีบทสัมภาษณ์จากคุณคิลิน (เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย) เจ้าของร้าน “The Kloset” คาเฟ่ Yuri แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นอีกคนที่ออกมาเคลื่อนไหว รณรงค์ให้คนเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ คุณคิลินจะมาพูดถึงความเหมาะสมในฐานะ LGBTQ คนหนึ่ง เรามาดูกันว่าเขามีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
Q: คุณคิลินคิดว่าบทบาท LGBTQ+ ในสื่อต่างๆ นั้นเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนคะ
A: ทุกคนมีคาแรคเตอร์ของตัวเองค่ะ ส่วนตัวชอบการแสดงออกที่สร้างสรรค์ไม่ก้าวร้าว สื่อใหญ่หลายๆ สื่อก็มีการนำเสนอหลากหลายมุมมากขึ้น ทั้งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตลาดนั้นๆ ด้วย และตอบโจทย์ความเป็น LGBTQ+ ด้วย อีกส่วนคือสื่อส่วนตัวที่เริ่มมากขึ้น ยูทูปเบอร์ต่างๆ ซึ่งแสดงคาแรคเตอร์ตัวเอง เป็นตัวของตัวเองออกสู่ public ซึ่งทั้งหมดนั้นเขามีทาร์เก็ตของตัวเขาเองอยู่ ในแง่การตลาดคงต้องบอกว่าเหมาะสมตามที่ทุกคนอยากนำเสนอค่ะ
ที่อาจจะเป็นประเด็นก็มีแค่ การเหมารวม เช่น กะเทยต้องสวย ตลก เกย์ต้องหล่อเนี้ยบ เลสเบี้ยนต้องเซ็กซี่ อันนี้ไม่ได้อยู่ที่คนนำเสนอ แต่อยู่ที่การแบ่งแยกของผู้รับสื่อแต่ละคนว่าเข้าใจความหลากหลายไหม เข้าใจการแสดงไหม หรือ รู้ไหมว่าทุกคนอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น
“กะเทยต้องสวย ตลก เกย์ต้องหล่อเนี้ยบ เลสเบี้ยนต้องเซ็กซี่ อันนี้ไม่ได้อยู่ที่คนนำเสนอ
แต่อยู่ที่การแบ่งแยกของผู้รับสื่อแต่ละคนว่าเข้าใจความหลากหลายไหม”

Q: บทบาทของ LGBTQ+ ในไทย เมื่อเทียบกับต่างชาติแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ
A: เทียบกับประเทศตัวเองในอดีตดีกว่าค่ะ ดีกว่าแต่ก่อน และจะพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอีกค่ะ เราเทียบกับต่างชาติไม่ได้ทั้งหมดเพราะประเทศก็หลายโซน ยุโรปก็อีกแบบ อเมริกาก็อีกแบบ มาเลเซีย อินเดีย ก็อีกแบบ ประเทศเรามันเล็ก ยังมีค่านิยม ความเชื่อ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังกันหลายเรื่อง แต่มันจะดีขึ้นค่ะ เพราะเราต่างก็เป็นตัวเองกันอย่างมีความสุขมากขึ้น
Q: ปัจจุบัน LGBTQ+ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยคะ
A: ตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่คิดว่าสิ่งที่จำเป็นต้องมี คือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นเหมือนประกันคุ้มครองความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต (เนื่องจากปัจจุบันพ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ให้ชาว LGBTQ+ สามารถแต่งงานกันได้ ยังไม่เท่าเทียมกับการสมรสของเพศชายและเพศหญิง) ในความหลากหลายมีความหลากหลาย หาตัวเองให้เจอ แล้ว คนที่แฮปปี้กับตัวเองจะสร้างเรื่องดีๆ ให้สังคมเองโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ใคร
“แต่คิดว่าสิ่งที่จำเป็นต้องมี
คือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
ซึ่งเป็นเหมือนประกัน
คุ้มครองความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต”
Q: มีตัวการ์ตูน LGBTQ+ ที่ชื่นชอบ หรือได้รับบทบาทที่โดดเด่นไหมคะ
A: เซลเลอร์ยูเรนัส / เรื่อง Paradie Kiss ตัวละครชื่อโจจิ จอร์จ มีความ unisex และ gender fluid / อีกหลายเรื่องเลยของคิคุจิ โชตะ ที่เขียนเจ๊สาวฯ ก็มีเรื่องที่คุมย่านการค้าประเวณี มีกะเทย มีทอม มีความหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็อยู่บนมนุษยธรรม จริงๆ มีหลากเรื่องมากๆ แต่นึกไม่ออก ภัตตาคารเที่ยงคืนก็มี ตัวละครนางโชว์ที่มีสีสัน มีชีวิต มีมิติ
——————————-
บทสัมภาษณ์ของคุณคิลินทำให้เราเห็นว่าบทบาทของ LGBTQ นั้น ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงหลงเหลือภาพลักษณ์บางอย่าง ที่นำไปสู่กับเหมารวมและความเข้าใจแบบผิดๆ นอกจากนี้ยังแนะนำตัวการ์ตูนที่มีความหลากหลายทางเพศ และหลายมิติอีกด้วย
ภาพสะท้อนแห่งความเท่าเทียม
ในปัจจุบันสังคมเปิดกว้างให้กับ LGBTQ มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังห่างไกลกับคำว่า “เท่าเทียม” อยู่มาก แม้ในประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ทำให้เพศทางเลือกสามารถแต่งงานกันได้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเทียบเท่ากับคู่สมรสของชายและหญิง นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ LGBTQ กำลังเรียกร้องในขณะนี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการยอมรับในอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ เพศทางเลือกมักจะถูกกีดกัน และสังคมดูถูก เช่นว่า หาก LGBTQ เป็นครูก็อาจทำให้ลูกศิษย์กลายเป็นพวกผิดเพศ ถูกตั้งคำถาม และมองข้ามความสามารถของคนเหล่านั้น ไปจนถึงถูกริดรอนสิทธิการแต่งเครื่องแบบตามเพศวิถี ถูกยัดเยียดว่าต้องทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น

และยังมีเรื่องละเอียดอ่อนภายในครอบครัว ที่จะไม่ยอมรับลูกหลานที่เป็นเพศทางเลือกหากไม่ประสบความสำเร็จ เพศทางเลือกหลายคนถูกไล่ออกจากบ้าน ทำให้ LGBTQ ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก แต่คำถามคือ หากทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันแล้ว ทำไมถึงเพศทางเลือกถึงต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าเพศอื่นๆ ด้วย…
หากทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันแล้ว
ทำไมถึงเพศทางเลือกถึงต้อง
พิสูจน์ตัวเองมากกว่าเพศอื่นๆ ด้วย…

นี่คือเรื่องราวที่เรานำมาฝากทุกคนกันค่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆ มีคำตอบให้ตัวเองกันหรือยังคะ ว่าบทบาทของ LGBTQ ในโลกการ์ตูนนั้นดีพอแล้วหรือยัง ซึ่งในมุมมองของเรา การ์ตูน รวมไปถึงสื่อบางสื่อยังคงผลิตบทบาทซ้ำๆ ที่ทำให้เราจำติดตา เกิดการเหมารวมต่อกลุ่มเพศทางเลือกอยู่ และการเสพบทบาทเดิมที่สื่อมอบให้ ส่งผลให้เกิดคำจำกัดความซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยไม่จำเป็น จนทำให้สังคมของเราห่างไกลจากคำว่า “เท่าเทียม”
แต่หากเราเริ่มทำความเข้าใจเพศทางเลือก เคารพความต่าง ใช้สื่อนำเสนอบทบาทที่หลากหลาย ผู้รับสารใช้วิจารณญาณเสพเนื้อหาอย่างมีสติ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เรามุ่งไปถึงความเท่าเทียมได้เร็วขึ้น และได้สัมผัสกับสังคมที่เปิดกว้างให้กับทุกเพศอย่างแท้จริง
สำหรับวันนี้ SANGCHU ต้องขอลาไปก่อน
แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ การ์ตูน และภาพยนตร์
บนเว็บไซต์ Plotter นะคะ
อ้างอิง
https://thematter.co/social/lgbt-inequality-with-krukath/48901 https://thematter.co/thinkers/women-revolution-2489/120781? utm_source=line&utm_medium=official_account https://www.bbc.com/thai/48715711 https://www.gypzyworld.com/article/view/1579 https://minimore.com/b/XjjvB/6
https://www.bbc.com/thai/thailand-48382940
https://themomentum.co/gay-scene-20th-century/ https://www.soimilk.com/news/news/lgbtq-spongebob https://thematter.co/entertainment/yaoi-from-then-to-now/8753 https://www.plotter.in.th/?p=11472
https://adaymagazine.com/gay-related-immune-deficiency/
https://www.silpa-mag.com/history/article_400
https://www.youtube.com/watch?v=4aqiFH5hSIg&t=629s
https://workpointtoday.com/15explainer-lgbt/
https://themomentum.co/momentum-opinion-genderless-binary-sexual/