บทความโดย SANGCHU
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ชาว Plotter มาพบกันอีกครั้งกับ “SANGCHU” เอง!! มาในเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคุกรุ่นได้ที่ ทุกคนเป็นยังไงกันบ้างคะ หวังว่าจะไม่เครียดกันเกินไป และไม่ว่ายังไงอย่าลืมตรวจสอบข่าวสารให้รอบด้านนะคะ
วันนี้เราจะมาแนะนำ “The king and I” การ์ตูนที่คนไทยไม่มีอาจโอกาสได้ดูมาฝากทุกคนกันค่ะ ซึ่งต้องขอบอกก่อนว่า
**การ์ตูนเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะคะ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปเริ่มกันเลยค่ะ
————————————
ก่อนจะเป็น The King and I
ก่อนอื่นเรามาดูที่มาที่ไปและวิวัฒนาการของการ์ตูนเรื่องนี้กันก่อนนะคะ บทประพันธ์ที่แสนโด่งดังเริ่มต้นจาก แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) สตรีชาวอังกฤษที่เดินทางมาสอนภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์ในราชสำนักช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เธอทำหน้าที่เป็นครูในสยามนานถึง 5 ปี ก่อนจะเดินทางกลับและได้เริ่มเขียนหนังสือเพื่อบอกเล่าเรื่องราว วัฒนธรรมไทยที่เธอได้พบเจอ ผ่านหนังสือเรื่อง “The English Governess at The Siamese Court” และ “The Romance of the Harem”
แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens)
The English Governess at The Siamese Court เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของแอนนาและการใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนัก
The Romance of the Harem เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวความรักในราชสำนัก
ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มเป็นหนังสือขายดีทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยนัก เนื่องจากมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์และบิดเบือนเรื่องราวในประวัติศาสตร์
ต่อมาในปี พ.ศ.2487 มาร์กาเร็ต แลนดอน (Margaret Landon) นำเรื่องราวที่แอนนาเขียนมาเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือเรื่อง “Anna and The King Of Siam” ซึ่งพูดถึงแอนนาและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) กลายเป็นบทประพันธ์ที่โด่งและถูกแปลมากกว่า 20 ภาษา
หนังสือ “Anna and The King of Siam”
โดย มาร์กาเร็ต แลนดอน
ความโด่งดังส่งผลให้ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง 20th Century Fox นำเรื่องราวจากหนังสือไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2489 โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำหนังสือชี้แจงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ผ่านรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวฉายในประเทศไทย ณ ศาลาเฉลิมกรุง
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
รูปโปสเตอร์หนังภาพยนตร์ The King and I ช่วงปี พ.ศ. 2489
ยิ่งไปกว่านั้น ในปี พ.ศ. 2494 บทประพันธ์ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเวทีบรอดเวย์ ใช้ชื่อเรื่องว่า “The King and I” มีรอบการแสดงถึง 1,246 รอบ และยังได้รับรางวัล โทนี สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกด้วย
ละครเวทีบรอดเวย์ The King and I พ.ศ. 2494
ละครเวทีบรอดเวย์ The King and I พ.ศ. 2561
การเดินทางของหนังสือ “Anna and The King Of Siam” ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะมีผู้กำกับมือดีหยิบเรื่องนี้ไป “ทำซ้ำ” หลายครั้ง ซึ่งก็มีทั้งได้รับรางวัล Oscar ถึง 5 รางวัล หรือบางทีก็มีเงียบหายเข้ากลีบเมฆ
คราวนี้มาถึงคิววงการแอนิเมชันกันบ้าง โดยค่าย Warner Brother Animation ได้ผลิตการ์ตูนที่ถอดแบบจากละครเวทีบรอดเวย์และใช้ชื่อเรื่องว่า “The King and I” ฝีมือผู้กำกับ Richard Rich ฉายในปี พ.ศ. 2542 น่าเสียดายที่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และยิ่งไปกว่านั้น ในตอนนั้นยังสั่งให้มีการงดฉายการ์ตูนเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยอีกด้วย
ภาพโปสเตอร์อนิเมชั่นเรื่อง The King and I
ตัวอย่างภาพยนต์อนิเมชั่น The King and I
เหตุผลที่ถูกแบน
สาเหตุที่ถูกงดฉายในประเทศไทยนั้น เนื่องจากเหตุผลว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีเนื้อหาบางส่วนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ การใส่อภินิหารที่เกินจริง การเสียดสีวัฒนธรรมไทยอย่างเจ็บแสบ ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่แอนนาไม่พอใจการกระทำของพระราชาและแสดงท่าทางล้อเลียนการหมอบกราบซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อหน้าพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่ความรักของลูกพระมหากษัตริย์กับหญิงสาวสามัญชน
แอนนาที่กําลังทําท่าล้อเลียนการหมอบกราบ
ลูกพระมหากษัตริย์ที่แอบหลงรักกับหญิงสาวสามัญชน
นอกจากนี้ เนื้อหายังทำให้ตัวการ์ตูน “แอนนา” เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเดิม เช่น การพาพระบรมวงศานุวงศ์ออกไปนอกประตูวังเพื่อดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร และการปลูกฝังความคิดที่ว่าผู้หญิงเองก็สามารถเรียนหนังสือได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดแปลกในยุคสมัยนั้นและยังยกย่องแอนนาราวกับเป็นผู้นำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ โดนบอกเล่าผ่านบทเพลง “Getting to Know You” หากใครอยากฟังเพลง สามารถกดที่คลิปนี้ได้เลยนะคะ
ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแอนนาและพระราชาที่ดูเหมือนจะเกินเลยไปกว่าสถานะผู้ว่าจ้าง และลูกจ้าง ด้วยบรรยากาศที่ผู้กำกับยัดเยียดให้ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระราชาให้ความสำคัญกับแอนนามากกว่าขุนนางคนอื่น หรือฉากที่ทั้งสองเต้นรำตอนท้ายเรื่องและของรางวัลที่พระราชาพระราชทานให้ แม้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะค่อนข้างคลุมเครือ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉากเหล่านั้นอบอวลไปด้วยความโรแมนติก ซึ่งผู้กำกับได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านเพลง “Shall We Dance” หากใครอยากฟังเพลง สามารถกดที่คลิปด้านล่างได้เลยนะคะ
อย่างไรก็ตาม การ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังมีเนื้อหาที่ทางการไทยยอมรับอยู่บ้าง อาทิ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อนความเป็น “นักประดิษฐ์” รวมถึงประเพณีและสถานที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการยกย่องพระมหากษัตริย์ของไทยและส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
พระราชาพาแอนนาชมสิ่งประดิษฐ์ของพระองค์
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ตลาดน้ำ
กีฬามวยทะเล
การแสดงหุ่นกระบอก
การสั่งงดฉายการ์ตูน The King and I นั้นมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย (อ้างอิงจากกระแสต่อต้านภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King ที่ถูกงดฉายในปีเดียวกัน) กับการ์ตูนเรื่องดังกล่าวว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่อิงจากประวัติศาสตร์ มีการเสียดสี ลบหลู่ราชานุภาพ หากปล่อยให้ฉายในเมืองไทย อาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และประวัติศาสตร์ของชาติ คงเกิดความเสียหายไปหมด”
ภาพยนตร์ Anna and The King โดย 20th Century Fox ในปีพ.ศ. 2542
ถูกงดฉายในประเทศไทย
ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าคำตัดสินห้ามฉายภาพยนตร์วางอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่ล้าสมัย เนื่องจาก พ.ร.บ. ที่ใช้ออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 บวกกับที่บางความเห้นก็มองว่าถึงจะมีการบิดเบือนไปมากน้อยเพียงใด ประชาชนควรมีโอกาสได้ดูและใช้วิจารณญาณหยิบยกประเด็นในเรื่องราวมาถกเถียงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ดีกว่าการดูแบบหลบๆ ซ่อนๆ
และยังมีประเด็นการขออนุญาตถ่ายภาพยนตร์ Anna and The King ในประเทศไทย โดยทางรัฐบาลได้ปฏิเสธการร้องขอ ทำให้เสียงของประชาชนแตกออกเป็นสองฝ่าย คือ มองว่าการปฏิเสธส่งผลทําให้การถ่ายทำภาพยนตร์นั้นออกมาไม่สมจริง และไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี
ด้านประชาชนที่สนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล มองว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง หากอนุญาตให้ถ่ายทำจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราสามารถควบคุมการผลิตได้ 100% เพราะนี่ไม่ใช่ภาพยนตร์สารคดี ดังนั้น ทีมงานมีความจำเป็นต้องถ่ายตามบทที่วางไว้และแน่นอนว่าบทไม่ได้อิงตามประวัติศาสตร์
เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ Anna and The King
นอกจากนี้ ทีมงานคนไทยในกองถ่ายของภาพยนตร์เรื่อง “Anna and The King of Siam” (พ.ศ. 2489) และ “Anna and The King” (พ.ศ. 2542) ยังถูกประชาชนตราหน้าว่าเป็น “คนขายชาติ” อีกด้วย นี่อาจเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้รัฐบาลปิดกั้นการ์ตูนเรื่องนี้นั่นเอง
และนี่เองคือเรื่องราวที่เราเอามาฝากทุกคนในครั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวแล้วเรามองว่าค่อนข้างน่าเสียดายที่การ์ตูนเรื่องนี้ถูกงดฉายในประเทศไทย เพราะนั่นทำให้เราพลาดโอกาสในการได้รู้ว่า ชาวต่างชาติมีมุมมองต่อประเทศของเราอย่างไร หรือแม้แต่การ์ตูนเรื่องนี้บิดเบือนจริงหรือไ่ม่ มากน้อยแค่ไหน..
อย่างไรก็ตาม หากเพื่อน ๆ ชาว Plotter มีโอกาสได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะด้วยช่องทางไหน อยากให้ดูด้วยความเป็นกลางและใช้วิจารณญาณในการรับชมนะคะ
สำหรับบทความนนี้ “SANGCHU” ก็ขอลากันไปก่อน
แล้วพบกันใหม่กับบทความเกี่ยวกับศิลปะ การ์ตูน และภาพยนตร์ในเว็บ Plotter ค่ะ
อ้างอิง
Anna and The King กับข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ : https://fliphtml5.com/jttmj/tghl/basic
https://www.sarakadee.com/feature/2000/02/vote.shtml
https://en.wikipedia.org/wiki/The_King_and_I_(1999_film)
https://www.voathai.com/a/the-king-and-i-21th-century-nm/2753327.html
แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ปัญหาในการนำเสนอภาพแทนอดีต โดย วิภพ หุยากรณ์ : https://www.academia.edu/37247400/
คนไทยคนแรกในกองถ่ายหนัง “Anna and the King of Siam” และความขัดแย้งเรื่องบท : https://www.silpa-mag.com/culture/article_20044